MFii จัดกิจกรรม ‘คนมีของ ขอทำดี X MFU Alumni’ ฟังประสบการณ์ธุรกิจจากศิษย์เก่าเล่าเรื่องการทำฟาร์มฮอพส์ วัตถุดิบเนื้อหอมแห่งวงการเครื่องดื่มปัจจุบัน

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

ส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (MFii) สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดกิจกรรม คนมีของ ขอทำดี X MFU Alumni โดยเชิญศิษย์เก่า มฟล. มาแชร์ประสบการณ์การทำงาน การทำธุรกิจ หรือกลยุทธ์การทำธุรกิจต่างๆ ซึ่งหัวข้อในกิจกรรมครั้งนี้คือ ‘รู้จัก Hops รู้จัก Hopster’ (ฮอพส์) จัดขึ้นใน 2 รูปแบบ ทั้งรับชมผ่าน Facebook Live หรือร่วมกิจกรรมแบบ Offline  ที่ห้อง Food Makerspace ชั้น 4 อาคาร I-Park ตึก M-Square เพียง 20 ที่นั่ง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. - 12.00 น. วิทยากรโดย อำพล พึ่งสมบุญ เจ้าของธุรกิจ Chiang Rai Hop Yard และผู้เชี่ยวชาญการทำฟาร์ม Hops ซึ่งเป็นศิษย์เก่า มฟล.จากสำนักวิชานิติศาสตร์ ที่ได้แชร์ประสบการณ์ในหัวข้อสำคัญต่าง ดังนี้ รู้จัก Hop รู้จักเรา, Hopster Farmer กับข้อจำกัดที่ไม่ใช่ใครก็ได้, ท้าทายความเชื่อ: ทำเรื่องยาก ให้เป็นไปได้ (ปลูกพืชเมืองเขา ออกดอกเมืองเรา), กลยุทธ์เชิงรุก ของธุรกิจ Chiang Rai Hop Yard เป็นต้น โดยได้เริ่มต้นเล่าถึงจุดที่ทำให้สนใจเกี่ยวกับพืชน้ำมันอย่างฮอพส์ 
.
“มีโอกาสลงเรียนในหลักสูตรสั้นเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มประเภทเบียร์ และทำให้พบว่าในเบียร์มีวัตถุดิบเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งคือฮอพส์ ซึ่งเป็นพืชน้ำมัน ลักษณะเป็นเถา เป็นพืชในยุโรป อเมริกา ด้วยเป็นพืชน้ำมันที่มีกลิ่นเฉพาะ ซึ่งกลิ่นและรสของเบียร์ส่วนหนึ่งมาจากฮอพส์ สำหรับต่างประเทศมองฮอพส์เป็นสมุนไพร ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะทำเครื่องสำอางด้วยมีสารสำคัญต่อต้านอนุมูลอิสระหรือสารสำคัญบางอย่างหรือบางรายนำไปทำบาล์มเพื่อช่วยลดอักเสบบวมเนื่องจากลดการติดเชื้อได้ หรือรับประทานสดหรือดองได้ เป็นต้น เพื่อให้เห็นว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย”
.
จึงนำมาสู่ความสนใจศึกษาค้นคว้าและนำฮอพส์เข้ามาปลูกในเมืองไทย ด้วยเป็นพืชเมืองหนาวและในเวลานั้นคือ 3-4 ปีก่อนหน้านี้ยังไม่มีการนำมาปลูกอย่างแพร่หลาย แต่ก็พบว่ามีคนไทยนำเข้ามาปลูกแบบในโรงเรือนได้  จึงเป็นแรงบันดาลใจว่าสามารถปลูกได้ นำมาสู่การเริ่มต้นนำเข้ามาทดลองปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงรายซึ่งมีอากาศเย็นในหลายช่วงเวลา แต่ก็ต้องทดลองปลูกแบบลองผิดลองถูก
.
“การทำฟาร์มฮอพส์เมื่อ 3-4  ปีก็เป็นเรื่องยากเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงในไทย ต้องอ่านรายงานจากต่างประเทศ เมื่อนำมาปลูกในไทยก็ต้องทดลองถูกผิดใหม่ เนื่องจากมีความแตกต่างกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมหรือสภาพอากาศ แม้แต่การนำเข้าต้นกล้าก็เช่นกัน ซึ่งต้องนำเข้ามาเป็นเหง้าจากต่างประเทศ ผ่านขั้นตอนการหลายประการ ทั้งการขนส่งหรือตรวจโรคพืช ใช้เวลารวม 7-10 วัน ประกอบกับอากาศร้อนมาก นำเข้ามา 500 เหง้า เหลือใช้ได้เพียง 70 เหง้า จากนั้นจึงทดลองปลูก ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้ 15 ปี ในทางการค้าใช้เวลา 3-5 ปี จากนั้นจึงขุดเหง้าและขยายพันธุ์ต่อไป ฮอพส์ชอบอากาศเย็น อุณหภุมิประมาณ 20-25 องศา แต่บ้านเราเฉลี่ย 30 ขึ้น ซึ่งตัวอุณหภุมิมีผลโดยตรง อากาศร้อนเกินไปมีผลปริมาณการสะสมน้ำมัน จึงมีคนนิยมปลูกในโรงเรือน และเราก็ได้ทดลองปลูกตามพื้นที่โล่ง ทดลองเปรียบเทียบ ดอยแม่สลอง ปางขอน พื้นราบ ว่าคุณภาพแต่ละที่เป็นอย่างไร สงผลต่อผลผลิตอย่างไร แต่ส่วนตัวผมเชื่อเรื่องการปรับตัว เหมือนอย่างที่เราเคยคิดว่าสตรอว์เบอร์รีจะปลูกในบ้านเราได้อย่างไร ลองปลูกให้ปรับสภาพสัก 3 ปี ดูว่าเขาปรับตัวได้ไหมอย่างไร”

วิทยากร เล่าต่อว่า อุตสาหรรมหลักๆ ที่ใช้ฮอพส์ในไทยในปัจจุบันที่ทราบกันดีคือเบียร์ นอกจากนั้นนำไปทำเครื่องดื่มชาหรือคอมบูชะหรือสปาร์คกิ้งได้ แต่การรับรู้ของคนไทยยังเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มไม่ได้กว้างมาก ดังนั้นคนที่เข้ามาปลูกอาจจะถูกจูงใจด้วยราคา แต่อยากจะแนะนำว่าอย่าเพิ่งไปติดกับดักราคา
.
“ถ้าปลูกฮอพส์ก็คงเหมือนพืชผลเกษตรอื่นๆ ว่าต้องรู้ว่าจะขายใคร ตลาดไหน อย่างไร สำหรับผมเอง ผมมีหุ้นส่วน 3 ส่วนคือ บริษัทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ที่ไปทำที่เวียดนามแล้วจึงนำเข้ามาขายในเมืองไทย และฟาร์ม ผลผลิตที่ได้จะส่งเข้าไปยังบริษัทหุ้นส่วน 3 แห่งนี้ ราคาเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ สายพันธ์เป็นที่ต้องการของตลาดไหม เนื่องจากเป็นตลาดเฉพาะ เราต้องสร้างดีมานต์ขึ้นมาเอง สร้างโปรดักซ์ขึ้นมา เพื่อไม่ให้ผลิตค้างสต็อกมาก ตอนนี้แปรรูปออกมา มีดอกฮอพส์สดและแห้ง ใช้ในเครือของเราเท่านั้น ไม่ทำเยอะเพื่อออกไปขาย อาจมีเหลือขายข้างนอกเล็กน้อย สำหรับภาพอนาคตธุรกิจ อยากให้คิดถึงเชียงรายว่า นอกจาก ชา กาแฟแล้ว อยากให้คิดถึงฮอพส์ด้วยอีกอย่างหนึ่ง อยากให้คนปลูกเยอะๆ ไม่คิดว่าเป็นคู่แข่ง เพราะต้นไม้ต้นเดียวเป็นป่าไม้ไม่ได้ จะปลูกป่าฮอพส์ก็ต้องมีหลายๆเจ้าช่วยกัน” 
.
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมรับชมย้อนหลังได้ที่เพจ MFii : Mae Fah Luang University  qrgo.page.link/PWgF7 ;

 

  • 667 ครั้ง