ตัวแทนนักศึกษา มฟล. เปิดความรู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมกับ 'เจียงฮายเกมส์'

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น ข่าวประชาสัมพันธ์

 

การแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 46 “เจียงฮายเกมส์” เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจและร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงรายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ร้านค้าต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือในการเป็นเจ้าภาพที่ดีต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาร่วมสร้างสีสันและความประทับใจในการแข่งขันกีฬา ทุกหน่วยงานในจังหวัดได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แตกต่างในแต่ละด้านที่มีความเชี่ยวชาญ เช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ที่ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัดเชียงรายให้ดำเนินงานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและประมวลผลการแข่งขัน ทำหน้าที่จัดเตรียมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่สนับสนุนการทำงานอย่างครบครันให้ศูนย์ประมวลผลกลาง การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46  และที่ศูนย์ PRESS CENTER  ณ อาคารคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดเชียงราย

ในการทำงานของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและประมวลผลการแข่งขันแบ่งเป็นหลายขั้นตอนทั้งด้านส่งตัวแทนนักศึกษาไปเก็บรวบรวมข้อมูลการแข่งขันจากทุกสนาม การนำข้อมูลมาลงในระบบ จากนั้นรายงานให้ศูนย์ประมวลผลกลางเพื่อประมวลและนำขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.chiangraigames.com และเฟสบุ๊คแฟนเพจ “เจียงฮายเกมส์”  ซึ่งดูแลโดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงทั้งหมด ประโยชน์ของการทำงานแบบครบวงจรนี้ทำให้สื่อมวลชนหรือผู้สนใจที่ติดตามกีฬาแห่งชาติได้ข้อมูลอย่างถูกต้อง รวดเร็ว สามารถนำผลที่ได้ไปเผยแพร่ต่อได้ทันที

นอกจากนี้ มฟล. โดยกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟแวร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น  เพื่อใช้ติดตามข่าวสาร "เจียงฮายเกมส์" โดยได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 46 เช่น  ระบบจองรถ รับ-ส่ง สำหรับนักกีฬา รายการถ่ายทอดสด ข้อมูลการแข่งขัน ข่าวสารน่ารู้ ข้อมูลนักกีฬา และที่พักนักกีฬา ข้อมูลที่พัก กิน เที่ยว ข้อมูลเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน เป็นต้น เปิดให้ Download ทั้ง App Store (iOS) และ Play Store (Android)

นายธีระนัย แสงจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มฟล. กล่าวว่า ตนได้ทำหน้าที่ประสานงานการเก็บข้อมูลคะแนนจากสนามเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปประมวลผล จากสิ่งที่ได้เรียนมาตลอด 3 ปี ทำให้สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ทันที มีความเข้าใจในตัวระบบที่ทำเป็นอย่างดี ส่วนตัวตื่นเต้นในการทำงานกับคนจำนวนมากอยู่เล็กน้อย ทำให้ได้เกิดการเรียนรู้ว่าจะต้องมีการสื่อสารที่ดีเพื่อลดความผิดพลาดของข้อมูล และมีความตั้งใจที่จะทำงานนี้ให้ดีที่สุดเพื่อที่เมื่อเรียนจบแล้วจะได้นำประสบการณ์ที่ได้รับไปทำงานจริงได้

ด้านนางสาวชนิดา ชยางกูร ณ อยุธยา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อมหาวิทยาลัยประกาศรับสมัครนักศึกษามาทำหน้าที่ที่ศูนย์ประมวลผลกลาง การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46  รู้สึกอยากมาทำงานนี้ทันทีเพราะตนเองเป็นคนจังหวัดเชียงรายและอยากมีส่วนร่วมกับงานนี้มากจึงได้สมัครมาทำงาน และแม้ว่าจะไม่ได้เรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์โดยตรงก็สามารถทำงานตรงนี้ได้ เพราะระบบที่จัดทำโดย มฟล. มีความชัดเจน ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่ายหากผ่านการอบรมมาแล้วก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยให้คำปรึกษาดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ได้จากการทำงานในครั้งนี้คือการได้เปิดโลกทัศน์ของตนเองได้เห็นการทำงานจริงของงานระดับชาติว่าสิ่งที่เราเคยได้รับข้อมูลจากสื่อต่างๆ จริงๆ แล้วมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังเป็นจำนวนมาก

  • 1621 ครั้ง
  • #สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ #สำนักวิชาศิลปศาสตร์