มฟล. ร่วมงาน University Consortium of 21 Century Maritime Silk Road and University Presidents' Forum

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) พร้อมรองอธิการบดี รศ. ดร.ชยาพร วัฒนศิริ และ ผศ.ดร.ร่มเย็น โกไศยกานนท์ ร่วมงาน University Consortium of 21 Century Maritime Silk Road and University Presidents’ Forum (UCMSR) ณ มหาวิทยาลัยเซียะเหมิน เมืองเซียะเหมิน  สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม พ.ศ.2561 โดยการประชุมครั้งนี้มีอธิการบดีและรองอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วม อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส  อิตาลี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อิสราเอล  ญี่ปุ่น เกาหลี  สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง มาเก๊า และไทย เพื่อร่วมกันอภิปรายใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การศึกษาที่ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการและความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม หรือ Entrepreneurship Education and the University-Industry Partnership 2. แนวโน้มของอุดมศึกษา: การเปลี่ยนแปลงและความเป็นนานาชาติ หรือ Trend in Higher Education: Transformation and Internationalization และ 3. การสร้างมหาวิทยาลัยระดับโลก : การรับรู้และความเข้าใจ 3. Building World-class university : Perceptions and Thoughts 

         อธิการบดี มฟล. ได้กล่าวในการอภิปรายถึงประเด็นแนวโน้มการอุดมศึกษาว่า โลกปัจจุบัน ดิจิตอลมีบทบาทอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของคนเรา สถาบันอุดมศึกษาเองต้องปรับเปลี่ยน ทั้งนโยบาย การบริหารจัดการ การเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตอล และทำให้สอดคล้องกับบริบทของมหาวิทยาลัย การปรับเปลี่ยนต่างๆ เหล่านี้ควรจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักศึกษา สังคม ภูมิภาคและพลเมืองโลก

        ทั้งนี้โลกดิจิตอลทำให้เกิดโอกาสมากมาย แต่ในขณะเดียวกันความเจริญทางเทคโนโลยีดิจิตอลที่ไม่เท่าเทียมกัน ก็ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาถูกเอารัดเอาเปรียบจากประเทศที่พัฒนาแล้ว บทบาทของมหาวิทยาลัยคือทำอย่างไรที่จะให้เกิดความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ในด้านการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม  ซึ่งควรมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ การเปิดโอกาสให้มีความร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้การที่จีนริเริ่มนโยบายเส้นทางสายไหมทางทะเล ก็เป็นการสร้างเวทีความร่วมมือของประเทศต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก 

        และความร่วมมือในระดับสากลนั้นควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยต้องร่วมมือ ช่วยเหลือกันเพื่อให้เกิดการลดช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจน เทคโนโลยีดิจิตอล ความเป็นสากล และการปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ทำให้เกิดสันติภาพ และความอยู่ดีกินดีของพลเมืองโลก 

  • 1170 ครั้ง