มฟล. ร่วมกับ ธนาคารออมสิน จัดกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ยกกำลัง 2 นักศึกษาร่วมเสนอโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

      มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย สถาบันวิจัยและนวัตกรรม ส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (MFii) ร่วมกับ ธนาคารออมสิน จัดพิธีเปิด กิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ยกกำลัง 2 ประจำปี 2565 และกิจกรรมนำเสนอโครงการย่อยของนักศึกษาต่อธนาคารออมสิน เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 7 เมษายน 2565 ณ ห้องคำมอกหลวง อาคาร M-Square มฟล. โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. กล่าวต้อนรับ ดร.ชลิดา ธนินกุลภณณ์ หัวหน้า MFii กล่าวรายงาน และ เรือตรีสุชาญ ภู่สุวรรณ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 9 จังหวัดเชียงราย กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย รศ. น.ท. ดร.ทศพล บุญเกิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม เจ้าหน้าที่ MFii เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน เข้าร่วมงาน

    นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือก 50 คน แบ่งออกเป็น 5 ทีม ร่วมกิจกรรมนำเสนอโครงการย่อยของนักศึกษาต่อธนาคารออมสิน ซึ่งจะได้มีโอกาสนำเสนอแผนพัฒนากิจการภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับวิสาหกิจชุมชนจำนวน 5 แห่งที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวอุทยานเกษตรอินทรีย์ บ้านสันป่าเหียง กลุ่มผู้ปลูกอ้อยอินทรีย์เชียงราย วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรด อำเภอเมืองเชียงราย วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีชุมชน ณ บ้านนอก วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน ในการนำเสนอนี้จะมีคณะกรรมการที่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาการจัดากร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร และจากธนาคารออมสิน เป็นผู้ซักถามและให้คำแนะนำแก่ทีมที่เข้าร่วมนำเสนอโครงการย่อยครั้งนี้

    สามารถรับชมพิธีเปิดและการนำเสนอโครงการย่อยย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?extid=NS-UNK-UNK-UNK-IOS_GK0T-GK1C&ref=watch_permalink&v=513123103870182

       กิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2555 ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ยกกำลัง 2 เป็นโครงการที่ธนาคารออมสินเป็นผู้ก่อตั้ง ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561 โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ มีกิจกรรมหลักคือการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มโอกาสทางการตลาด และความพร้อมในการแข่งขันทางธุรกิจ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจรากฐานให้มั่นคงและยั่งยืน ด้วยการดำเนินงาน การวางแผนพัฒนา และแก้ไขประเด็นปัญหาในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการ การจัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กร การบัญชี การตลาด และการประชาสัมพันธ์ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มชุมชน สถาบันอุดมศึกษา และนักศึกษา โดยทางธนาคารออมสินได้พยายามผลักดันให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาสู่การพัฒนาชุมชน ในครั้งนี้เป็นการนำเสนอโครงการย่อยของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และความเป็นไปได้ในการลงมือทำจริง ตามบริบทของชุมที่นักศึกษาได้เลือกเอง

      ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. กล่าวต้อนรับผ่านช่องทางออนไลน์ว่า ในนามของคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสต้อนรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากธนาคารออมสิน ในการเข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2565 ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ยกกำลัง 2 และการนำเสนอโครงการย่อยของนักศึกษา ทั้งที่ห้องคํามอกหลวง และช่องทางออนไลน์

     “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีพันธกิจในการส่งเสริมการศึกษาวิจัย ต่อยอดองค์ความรู้ ในการพัฒนาชุมชนและสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเสริมสร้างให้ชุมชนและสังคมเข้มแข็งและปลอดภัย เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้มีความมั่นคง และความมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการปลูกป่าสร้างคน โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแห่งนี้ เป็นขุมพลังทางปัญญาของสังคม เป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ชุมชนและสังคมมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน”

    “สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลและธนาคารออมสิน จึงได้มีการการบูรณาการภูมิปัญญาของชุมชนร่วมกับวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มองค์กรชุมชน กลุ่ม OTOP และกลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพ ให้มีรายได้เพิ่ม มีศักยภาพในการแข่งขันในทางการตลาด มีระบบการบริหารจัดการ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน และประเด็นสำคัญคือ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะได้มีความรู้กว้างขวาง ไม่เฉพาะเนื้อหาในบทเรียน แต่สามารถประยุกต์ผ่านประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชน เกิดความเข้าใจ หวงแหน สานต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน”

     “ขอใช้โอกาสนี้ ขอต้อนรับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากธนาคารออมสิน หน่วยงานต่างๆ ผู้แทนจากชุมชน และนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มชุมชนผลิตภัณฑ์ OTOP และสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา ตลอดจนสร้างความประทับใจให้กับทุกท่านได้เป็นอย่างดี และสุดท้ายนี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขอขอบคุณอาคารออมสิน ที่ให้ความไว้วางใจมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วยดีตลอดมา” รองอธิการบดี มฟล. กล่าว

     ดร.ชลิดา ธนินกุลภณณ์ หัวหน้า MFii มฟล. กล่าวรายงานว่า กิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2565 ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ยกกำลัง 2 และการนำเสนอโครงการยย่อยของนักศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพชุมชน กลุ่มองค์กรชุมชนประเภทกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP หรือกลุ่มอาชีพในชุมชน ให้สามารถบริหารจัดการกลุ่ม พัฒนาศักยภาพกลุ่ม และนำเข้าสู่ตลาดการค้าได้ โดยการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีสำหรับกลุ่มชน เสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้และการทำงานให้กับกลุ่มนักศึกษา การทำงานต่อยอดองคความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อให้เกิดประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเมื่ิออกสู่ตลาดแรงงาน และเพื่อสร้างความมั่นคงของรากฐานทางสังคม จากความเข้าใจของคนรุ่นใหม่

     “การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ในกลุ่มนักศึกษาทุกสำนักวิชาได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 50 คน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม และมีผู้ประกอบการชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย กิจการด้านการท่องเที่ยว จำนวน 2 กิจการ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีชุมชน ณ บ้านนอก และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน ด้านการแปรรูปสมุนไพร จำนวน 1 กิจการ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวอุทยานเกษตรอินทรีย์ บ้านสันป่าเหียง ด้านเกษตรอินทรีย์และด้านการแปรรูปอาหาร จำนวน 2 กิจการ ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกอ้อยอินทรีย์เชียงราย และวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรด อำเภอเมืองเชียงราย”

    “โดยมีคณาจารย์จากสำนักวิชาการจัดการ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตรรวม รวมทั้งสิ้นจำนวน 6 ท่าน ร่วมเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเจ้าหน้าที่จากส่วนการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม จำนวน 9 คน ร่วมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้กับกลุ่มนักศึกษาและสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยการดำเนินการครั้งนี้มีเวลาระยะดำเนินงาน 12 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม 2565 มีรูปแบบการดำเนินงานโดยกำหนดให้กลุ่มนักศึกษา พร้อมด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาและพี่เลี้ยง เข้าสำรวจสถานประกอบการเพื่อทราบปัญหาและอุปสรรคที่พบในการดำเนินธุรกิจ หลังจากนั้นจึงกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ครอบคลุม ทั้งในด้านบริหารจัดการองค์กร การตลาด การผลิต และด้านการเงินการบัญชี เพื่อให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ เฉลี่ยร้อยละ 50 และมีการบันทึกรายรับรายจ่าย อย่างเป็นรูปประธรรมมากขึ้น” หัวหน้า MFii มฟล. กล่าว

          เรือตรีสุชาญ ภู่สุวรรณ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 9 จังหวัดเชียงราย กล่าวเปิดงานว่า โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นโครงการที่ธนาคารออมสินร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการดำเนินงานกิจกรรมด้านการส่งเสริมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการบูรณาการองค์ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันการศึกษา กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชนประเภทกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ หรือกลุ่มอาชีพในชุมชน ทั้งทางด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนากิจการให้สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ตลอดจนสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้การทำงานกับผู้อื่น การทำงานต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะเป็นแนวทางก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เมื่อออกสู่ตลาดแรงงาน สู่การสร้างความมั่นคงของฐานรากสังคม จากการพัฒนาความเข้าใจของคนรุ่นใหม่

       “การดำเนินการโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2565 ในครั้งนี้ เป็นการทำงานเป็นปีที่ 3 การดำเนินการเป็นไปในรูปแบบที่ธนาคารออมสินร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลว งบนพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการศึกษาวิเคราะห์และนำองค์กรทางธุรกิจ มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนแก้ปัญหาในกลุ่มองค์กรชุมชน ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับในการดำเนินกิจกรรมการในครั้งนี้ มีหลากหลายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่จะได้รับการพัฒนามูลค่าของผลิตภัณฑ์ ผลิตผล ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจ อันจะก่อให้เกิดอาชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้มั่นคงกับชุมชน ด้านธนาคารออมสินจะได้รับความรู้ความเข้าใจในบริบทของธุรกิจของชุมชน ที่สามารถพัฒนาธุรกิจและต่อยอดธุรกิจของชุมชน ให้ตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ด้านสถาบันอุดมศึกษาสามารถเป็นต้นแบบเรียนรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่ ที่จะสร้างประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปประธรรม นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ถึงคุณค่าของทรัพยากรและภูมิปัญญาของท้องถิ่น สามารถฝึกทักษะเป็นผู้ประกอบการ มีโอกาสพัฒนาอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

     “หรับกิจกรรมวันนี้ เป็นพิธีเปิดกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ยกกำลัง 2 และการนำเสนอโครงการย่อยของนักศึกษา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน จะได้รับความรู้ความเข้าใจและประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 9 จังหวัดเชียงราย กล่าว

 

คลิก ชมอัลบั้มภาพ

......

  • 596 ครั้ง
  • #MFii ส่วนจัดการทรัพสินทางปัญญาและนวัตกรรม