ผศ. ดร.อรวรรณ สุวรรณทอง นักวิจัยสตรีท่านแรกของ มฟล. ที่ได้รับทุนวิจัย “ลอรีอัลประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2564

หมวดหมู่ข่าว: รางวัล/ผลงานเด่น

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ลอรีอัล ประเทศไทย ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ให้ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science ประจำปี 2564 โดยในปีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ สุวรรณทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีประยุกต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับรางวัลทุนวิจัยนี้ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่นักวิจัยสตรีของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับรางวัลทุนวิจัยจากลอรีอัล ประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับทุนเป็นปีแรกเช่นกัน

โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25 – 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สำหรับนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนฯ ในปีนี้มีจำนวน 5 ท่าน จาก 5 สถาบัน ดังนี้
           สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่  1. รองศาสตราจารย์ ดร.พันธนา ตอเงิน จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาผลกระทบของความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อวัฏจักรน้ำในระบบนิเวศป่า” 2. ดร.กมลชนก ชีวะปรีชา จากหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน มหิดล-อ๊อกฟอร์ด และ หลักสูตรชีวสารสนเทศและชีววิทยาระบบ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับงานวิจัยหัวข้อ “การจัดทำแผนที่ทางพันธุกรรมเพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์” และ 3. รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณวิภา วงศ์แสงนาค จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาแพลทฟอร์มทางชีววิทยาระบบและไมโครไบโอมเพื่อการทำนายสุขภาพทางเดินอาหารของคนไทย”

           สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ สุวรรณทอง จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาวัสดุปิดแผลฟองน้ำเซลลูโลสที่มีสารประกอบเชิงซ้อนของเคอร์คิวมินและไคโตซานสําหรับรักษาบาดแผลเรื้อรัง” 2. รองศาสตราจารย์ ดร.นัดดา เวชชากุล จากภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาวัสดุนาโนโลหะออกไซด์ เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นมลพิษทางน้ำ” 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ สุวรรณทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีประยุกต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ กล่าวว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอัมพฤกษ์ และโรคอัมพาตเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยเหล่านี้มักพบบาดแผลเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายเองได้ โดยบาดแผลที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และบาดแผลกดทับถูกพบมากที่สุดในบรรดาบาดแผลเรื้อรังทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหลักเกิดการจากติดเชื้อของแบคทีเรีย และมีปริมาณของเสียจากบาดแผลเป็นจำนวนมาก ทำให้การดูแลรักษาบาดแผลเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลานาน และต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง การใช้วัสดุปิดแผลจึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยดังกล่าว โดยวัสดุที่ใช้ต้องมีราคาถูก ไม่เป็นพิษ เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อผิวหนัง ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ น้ำและออกซิเจนสามารถแพร่ผ่านได้เหมาะสม ป้องกันการสูญเสียน้ำจากร่างกายเพื่อช่วยรักษาสภาวะของแผลไม่ให้แห้ง และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่าการพัฒนาวัสดุปิดแผลสำหรับรักษาบาดแผลเรื้อรังมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาบาดแผลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาวัสดุฟองน้ำที่มีลักษณะเป็นรูพรุน ช่วยดูดซับของเหลวจากบาดแผลได้ดี และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บของเหลวได้ โดยใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากธรรมชาติและพบได้ในประเทศไทย คือ เซลลูโลสจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบสับปะรด และไคโตซานจากเปลือกกุ้ง กระดองปู เป็นต้น อีกทั้งยังมีการใช้เคอร์คิวมิน สารสกัดจากขมิ้นชัน ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพเหมาะสำหรับใช้ในการรักษาบาดแผล โดยผลงานวิจัยนี้สามารถนําไปต่อยอดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพวัสดุปิดแผลที่ผิวหนังให้มากขึ้น ช่วยยกระดับงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนภายในประเทศ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ลดการนําเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ในที่สุด”

สำหรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับพอลิเมอร์ชีวภาพในการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง และตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานมาแล้วมากกว่า 50 เรื่อง 

ทั้งนี้ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก แต่ละปีได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 100 ท่าน โดยในประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25 – 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 19 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 76 ท่าน จาก 20 สถาบัน

  • 1495 ครั้ง
  • #สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ #รางวัล