มฟล. เคลื่อนปฏิรูปหลักสูตรผลิตแพทย์-พยาบาล สอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สธ. หวังยกระดับสุขภาวะ ปชช.-กลุ่มชาติพันธุ์ ภาคเหนือ

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. ผนึก WHO และ ศสช. จัดสัมมนาวิชาการ “การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21” จุดประกายการขับเคลื่อนการเรียนการสอนนิสิต-นักศึกษา แพทย์ พยาบาล และกลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพแนวใหม่ แบบ “ทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง” ที่เน้นใช้ชุมชนเป็นฐานในการศึกษา เพื่อเพิ่มคุณลักษณะพึงประสงค์แก่บุคลากรด้านสุขภาพ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ด้านสาธารณสุข หวังยกระดับสุขภาวะประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือให้ยั่งยืนระยะยาว

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) จัดงานสัมมนา “การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน หวังจุดประกายและขับเคลื่อนการปฏิรูปสถาบันการศึกษา สู่การพัฒนาการเรียนการสอนบุคลากรด้านสุขภาพในรูปแบบใหม่ที่เน้นใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือ “ทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง” เพื่อผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือให้มีคุณภาพและศักยภาพ ตรงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ด้านสาธารณสุข (2560-2579) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ) ตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะไม่ปล่อยให้ใครต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และยังเป็นการยกระดับสุขภาวะของประชาชนทุกคนในพื้นที่อย่างยืนในอนาคต

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. บรรยายพิเศษในหัวข้อ “กำลังคนที่ตอบสนองต่อระบบสุขภาพ” ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณ พลโท นพ.นพดล วรอุไร คณบดี สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. ให้การต้อนรับ ร่วมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุนหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ ศสช. ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการ ศสช. และ ทพ.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย รวมถึงเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาคกว่า 200คน เข้าร่วมงาน โดยพิธีการเริ่มจาก รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงานพร้อมกล่าวนำ ก่อนเข้าสู่การบรรยายและอภิปรายตามลำดับ ณ ห้องประชุมคำมอกหลวง ชั้น 5อาคาร E-Park M Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ศ.เกียรติคุณ พลโท นพ.นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า ด้วยเจตนารมณ์ของ รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล.ที่ต้องการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในเรื่องปลูกป่า สร้างคน สร้างบุคลากร ทุกระดับชั้นทุกวิชาชีพให้เป็นคนดีมีคุณภาพ และต้องการยกระดับสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ จึงจัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์ขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือชุมชนได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้แนวทางการเรียนการสอนของทางสำนักแพทยศาสตร์ มฟล. ที่เน้นความเป็นเวชศาสตร์ชุมชน พัฒนาสุขภาพชุมชน บัณฑิตแพทย์ที่จบมาแล้วมีใจรักชุมชน ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบทของประเทศทางหนึ่ง โดยแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การทำงานของ ศสช. จึงคิดว่าหากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. ร่วมมือกับ ศสช. จะทำให้การผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อชุมชนเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น

ศ.เกียรติคุณ พลโท นพ.นพดล กล่าวต่ออีกว่า แนวทางต่อไปของสำนักแพทยศาสตร์ มฟล. คือการเปิดศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยที่สามารถรับผู้ป่วยได้ 400เตียง ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2560และจะขยายเป็น 800เตียงในอนาคต โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2-3และกลุ่มสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องสามารถเรียนที่นี่ได้ทั้งหมด แต่ทางสำนักแพทยศาสตร์ มฟล. ยังตั้งความหวังไกลมากกว่านี้ โดยหวังให้เกิดความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนในสังกัด สธ.ใน จ.เชียงราย รวมทั้งร่วมมือกับโรงพยาบาลในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งหมดให้มาเป็นเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ และสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาและสัมผัสปัญหาสุขภาพประชาชนภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ซึ่งถ้าผู้ใหญ่จาก สธ.สนับสนุนเรื่องนี้ และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) อย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้การดำเนินงานต่างๆ ดีขึ้น

“จังหวัดเชียงรายมีลักษณะพิเศษ คือมีกลุ่มชาติพันธุ์ มีคนต่างชาติ ข้ามพรมแดนเข้ามาและนำโรคที่น่าสนใจและเป็นปัญหาเข้ามา ซึ่งระบาดข้ามมาจากฝั่งพม่า ฝั่งลาว คนกลุ่มนี้จะมารักษาตัวที่ อ.เชียงแสน และ อ.แม่สาย ในฝั่งไทย โรคเหล่านี้บางโรคไม่เคยมีในประเทศไทย กลุ่มนักศึกษาแพทย์ของเราจะได้เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้น ส่วนชุมชนหรือชาติพันธุ์ต่างๆ ทางสำนักแพทยศาสตร์จะมีบัณฑิตแพทย์จบเป็นรุ่นแรกในอีก 2ปีข้างหน้า ซึ่งทางสำนักแพทยศาสตร์จะชักชวนให้มาทำงานต่อ ทำให้เขามีโอกาสย้อนไปเยี่ยมชุมชนที่เขาเคยไปสมัยยังเป็นนักศึกษา และติดตามความก้าวหน้าในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน หรือชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ต่อเนื่อง" คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพตามแนวคิดทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง จะเป็นตัวเชื่อมในการสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ที่จะกลายเป็นกลไลช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ครบทุกองค์ประกอบด้านสุขภาพได้ในอนาคต ซึ่ง สธ.วางเป้าสร้างคลินิกหมอครอบครัวให้ครบ 6,500ทีม ในอีก 10ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะพลิกโฉมระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบได้กับการวางรากฐานการป้องกันการเจ็บป่วยในลักษณะ Gatekeeper ที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพของตัวเองกันมาก ผ่านคำแนะนำและการตรวจเบื้องต้นจากบุคลากรด้านสุขภาพของทีมคลินิกหมอครอบครัว เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อป้องกันสุขภาพจากการเจ็บป่วยไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยมีสาเหตุจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงการที่ประชาชนรู้ไม่จริง รู้ไม่ถูก ที่ส่งผลต่อการป้องกัน นอกจากนี้การขับเคลื่อนในข้างต้น ยังช่วยให้บุคลากรของแต่ละสาขาได้มาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ความเข้าใจที่มีต่อพื้นที่ และการร่วมแรงร่วมใจเพื่อไปสู่เป้าหมายการสร้างสุขภาวะให้ประชาชน

“ในฐานะผู้ใช้ผลผลิตบุคลากรด้านสุขภาพเราได้วางคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในอีก 20ปีข้างหน้าไว้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตอย่าง มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานใน สธ.เอง ที่ต้องตามเทรนด์ให้ทันว่าในอีก 20ปีข้างหน้านั้น ประเทศไทยต้องการแพทย์ พยาบาล และกลุ่มสหวิชาชีพแบบใด การปฏิรูปเพื่อการดำเนินงานสอดคล้องไปด้วยกัน” รองปลัด สธ. กล่าว

ขณะที่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ ศสช. กล่าวถึงเหตุผลที่สังคมต้องเร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพ จากการเรียนในห้องเรียน หรือเรียนจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโรงพยาบาล มาเป็นการเรียนรู้จากชุมชน หรือ ทรานส์ ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ว่า เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วความเจ็บป่วยของประชาชนประมาณร้อยละ 90เป็นปัญหาสุขภาพในชุมชนที่สามารถหายเองได้ ไม่ใช่โรคซับซ้อน ที่ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในการรักษา แต่การเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ในปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงชุมชน ขณะที่การเข้าถึงชุมชนจะมีในช่วงหลังจบการศึกษาแล้ว ดังนั้น การเรียนรู้ที่ผ่านมาจึงเป็นการเรียนรู้แบบเป็นส่วนๆ เฉพาะโรค เฉพาะอวัยวะ ไม่ใช่การเรียนรู้แบบองค์รวมถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ

“ในความเป็นจริงชุมชนต่างๆ ซึ่งไม่ได้หมายถึงชุมชนในชนบทห่างไกลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงชุมชนเมือง เช่น ชุมชนบ้านจัดสรร ชุมชนคอนโดมิเนียม ล้วนต้องการแพทย์รักษาโรคทั่วไปมากกว่าแพทย์เฉพาะทาง แต่ประเทศไทยยังผลิตแพทย์โรคทั่วไปได้เพียงแค่ร้อยละ 10เท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแพทย์เฉพาะทาง ต่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือในยุโรป ที่แพทย์รักษาโรคทั่วไปจะมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับในสังคมมากกว่า เพราะจะมีความใกล้ชิดสังคมเข้าใจวัฒนธรรมแต่ละท้องที่ ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสุขภาพของคนในชุมชนแต่ละคน มีการติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง และหากเกิดปัญหาที่เป็นโรคซับซ้อนขึ้นจึงส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางทำการรักษา ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราทุกวันนี้ ที่คนไข้บางคนต้องมีแพทย์เฉพาะทาง 4-5คน ในการดูแลสุขภาพ หรือถ้าไปโรงพยาบาลครั้งหนึ่งก็ต้องใช้เวลาทั้งวันในการพบแพทย์แต่ละโรค" รองประธานกรรมการ ศสช. ชี้แจง

นพ.สุวิทย์ อธิบายถึงบทบาทของ ศสช. ที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียนการสอนบรรลุผลไว้ด้วย ว่า สศช.เปรียบเหมือนน้ำมันหล่อลื่นหรือผู้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องชี้ให้สังคมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นว่าทำไมต้องทำให้เกิดการเรียนด้านสุขภาพที่เข้าถึงชุมชน ผ่านบทบาทในการดำเนินการ 4ด้าน คือ

 

  1. จัดระบบองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น ทบทวนเอกสารจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีการใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนด้านสุขภาพ ซึ่งความรู้นี้อาจกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ก็ต้องรวบรวมออกมา และหาข้อสรุปในการดำเนินการ เพื่อไว้เป็นฐานข้อมูลเผยแพร่แก่เครือข่ายและผู้ที่สนใจ
  2. นำองค์ความรู้ที่ได้มาย่อยให้เข้าใจง่าย แล้วสร้างเป็นสื่อประเภทต่างๆ เพื่อกระจายสารออกไปในวงกว้างแล้วผลิตเป็นสื่อ เช่น ถอดบทเรียนผลิตเป็นหนังสือ สร้างไกด์ไลน์ต่อเรื่องที่เกี่ยวข้อง คลิปวิดีโอ โปสเตอร์ Policy Brief พร้อมสร้างช่องทางสื่อสารโดยตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายไปถึงสังคม และถึงชุมชน อันหมายถึง จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน รพ.สต. ต่างๆ รวมทั้งชุมชนเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ต้องการให้เป็นร่วมเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนดำเนินการ และสื่อไปถึงรัฐบาล สถาบันการศึกษา โรงเรียนแพทย์ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน
  3. ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยต้องผลักดันทำให้เกิด Policy Commitment เพื่อนำไปสู่การเป็นมติ ครม. แผนสาธารณสุขของชาติต่อไป
  4. ช่วยพัฒนาผลักดันให้สถาบันการศึกษาเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน มีการตั้งหน่วยติดตาม ประเมินผลการเปลี่ยนแปลง หรืออาจต้องมีการจัดหน่วยฝึกอบรมความรู้ (Training Workshop) เกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป เพื่อเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงคนที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขต่างๆ ให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน และเกิดผลสัมฤทธิ์ในแง่บุคลากรด้านสุขภาพและกลุ่มเครือข่ายมีขีดความสามารถมากขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายที่จะมาช่วยผลักดันในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง

ทพ.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.แม่จัน ยกตัวอย่างถึงข้อดีของการปฏิรูปการเรียนรู้ในแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไปว่า จากการทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่มีสัดส่วนประชากรถึงร้อยละ 30มานาน โดยในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่มที่มีสัญชาติ มีบัตรประชาชน และยังไม่มีบัตรประชาชน พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีปัญหาทันตกรรมค่อนข้างมาก การลงพื้นที่ของแพทย์ นักศึกษาแพทย์ และกลุ่มสหวิชาชีพ ตามโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อยู่บนภูเขา และช่วยรักษาโดยไม่เลือกว่าใครมีบัตรประชาชนหรือมีสัญชาติ ฉะนั้น ถือว่าเป็นการเรียนรู้การรักษาแบบมืออาชีพ เพราะการเรียนรู้จากชุมชนในพื้นที่จริงจะได้อีกมุมมองหนึ่ง เป็นกระจกอีกด้าน เพราะเรื่องของการรักษาต้องเข้าใจในตัวคน เข้าใจในเบื้องหลังคนที่มารักษา การลงพื้นที่จะทำให้รู้สาเหตุของปัญหาเหล่านั้น

"ถ้าเราให้นักเรียนแพทย์ นักเรียนทันตแพทย์ นักเรียนพยาบาล และนิสิต นักศึกษากลุ่มสหวิชาชีพลงพื้นที่ ให้เขาทำโครงงานในพื้นที่เป็นฐานการเรียนรู้ เมื่อจบแล้วเขาจะเป็นหมอมีจิตวิญญาณที่ดี ที่เข้าใจคนไข้มากขึ้น เราต้องเรียนด้านนี้กันมากขึ้น เพราะนักศึกษาแพทย์หรือนักศึกษาทันตแพทย์บางคนอาจจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะ ไม่ลำบาก อาจจะไม่เข้าใจชีวิตผู้คนจริงๆ ที่อยู่ในชนบทว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเขาได้มาสัมผัสกับชาวบ้าน ก็จะทำให้เขาเกิดความสงสาร เห็นใจ และกลายเป็นหมอจริงๆ ได้" ทพ.วีระ ระบุ

  • 1584 ครั้ง