ทันตแพทย์ ดร.ณรงค์ ลุมพิกานนท์ คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ กับภารกิจบ่มเพาะ ‘ทันตแพทย์’ เพื่อประชาชน

ในหลักสูตรมีรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนนักศึกษาทันตแพทย์ มฟล. ให้บริการด้านสุขภาพด้วยหัวใจ ให้เป็นทันตแพทย์ที่มีจิตวิญญาณมากกว่าวัตถุ หรือที่เรียกว่าคุณธรรมจริยธรรม

สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ ครบรอบ 5 ปีในปีนี้ (2560) เป็นเวลาใกล้กันที่ได้ต้อนรับ อาจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ณรงค์ ลุมพิกานนท์ ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งคณบดีของสำนักวิชา โดยมีภารกิจที่ต้องขับเคลื่อนการผลิตทันตแพทย์ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนบน ตลอดจนประเทศในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมกับสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘ให้ปวงประชามีฟันดี’

คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์คนปัจจุบัน คือ อาจารย์ ทพ. ดร.ณรงค์ ลุมพิกานนท์ จบการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทและเอกจาก มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต สหรัฐอเมริกา (Ohio State U., U.S.A.) และมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ (U. of Birmingham. U.K.) ตามลำดับ และยังมี อนุมัติบัตร ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแมกซิลโลเฟเชียล

อีกทั้งเคยปฏิบัติงานในฐานะอาจารย์ประจำที่ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตลอด 31 ปี ส่วนงานด้านการบริหารนั้นเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา และผู้ช่วยคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อเข้ารับตำแหน่งคณบดีทันตแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จึงได้ให้สัมภาษณ์กับจดหมายข่าว ‘รอบรั้ว มฟล.’ ถึงทิศทางการพัฒนาวิชาการของสำนักวิชา และความคาดหวังต่อนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ ไปจนถึงในโอกาสที่สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มฟล. ครบรอบ 5 ปี

ทิศทางการพัฒนาวิชาการของสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มฟล. วางไว้อย่างไรบ้างคะ?

นักศึกษาที่นี่เป็นนักศึกษาแบบที่เรียนและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในแคมปัส ซึ่งสภาพแวดล้อมเอื้อกับการเรียนการสอนที่ต่างไปจากมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่อื่นๆ และที่สำคัญที่ มฟล. นักศึกษาทันตแพทย์ และแพทย์ เรียนร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกัน และเราหวังว่าจะออกแบบ การเรียน และประสบการณ์เรียนรู้แบบเป็นทีม ที่อนาคตจะได้ส่งเสริมกันและกัน ประกอบกับกลุ่มนักศึกษาขนาดเล็ก จึงทำให้มีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับครูอาจารย์ มีความใกล้ชิดมากกว่าในชั่วโมงเรียน

อีกทั้งหลักสูตรของที่นี่เป็นความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ ซึ่งมีการริเริ่มดำเนินการไว้แล้ว และเมื่อผมเข้ามาทำงานก็เป็นขั้นตอนที่จะทำให้ความร่วมมือนั้นเป็นรูปธรรมและดำเนินการตามแผนที่วางไว้ คือ นักศึกษาจะได้สัมผัสกับของจริง หมายถึงได้เรียนจากประสบการณ์ ได้ศึกษาปัญหาของประชาชนของชุมชนที่เป็นฐานการเรียนรู้ของพวกเขา ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ท่านแรกคือ รศ.ทพ. สัมพันธ์ ศรีสุวรรณ ได้วางแนวทางไว้ตั้งแต่แรก

ทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การผลิตทันตแพทย์ ของ มฟล. มีความพร้อมอย่างสูงเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะก้าวสู่การทำงานในโรงพยาบาลกับชุมชน เนื่องจากนักศึกษาได้สัมผัสได้คลุกคลีอยู่กับชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งผมมองว่าจุดนี้นับเป็นโอกาสและศักยภาพที่ทำให้เราต่างจากที่อื่น

นอกจากนี้ ตามประสบการณ์ที่ได้ทำงานผู้ช่วยคณบดีดูแลงานด้านต่างประเทศจากหน่วยงานเดิม ผมมองเห็นว่า มฟล.มีศักยภาพที่จะไปได้ไกล ถ้าที่นี่ทำได้ดีก็อยากทำให้ได้ดีและเป็นที่ยอมรับ มีมาตรฐาน ในอนาคตน่าจะมีหลักสูตรที่รับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนทันตแพทย์ได้ จบออกมาให้มีความรู้ความสามารถได้มาตรฐาน ในระดับสากล ถ้าเราทำได้ดีจริง แน่จริง ได้มาตรฐาน ส่วนเรื่องใบประกอบโรคศิลป์ ก็ต้องวางเงื่อนไขหรือวิธีการต่อไป

สำหรับด้านการวิจัยในระยะเวลาแรกเน้นในส่วนที่ตอบโจทย์และปัญหาของประชาชน มากกว่าด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เนื่องจากเราคลุกคลีอยู่กับพื้นที่หรือชุมชนมาก และมุ่งมั่นที่จะเป็นทันตแพทย์ที่คุ้นเคยกับประชาชนกับปัญหาของคนไข้มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ที่กำลังเป็นประเด็นหลักด้านสุขภาพ

คุณลักษณะสำคัญของทันตแพทย์ที่เติบโตจาก มฟล.นั้น คณบดีอยากให้เป็นอย่างไร?

ในหลักสูตรมีรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนนักศึกษาทันตแพทย์ มฟล. ให้บริการด้านสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติ หรือเพื่อนร่วมงาน รวมถึงตัวเอง มีโปรแกรมให้นักศึกษาได้ฝึกฝนโดยหวังให้เป็นทันตแพทย์ที่มีจิตวิญญาณมากกว่าวัตถุ หรือที่เรียกว่าคุณธรรมหรือจริยธรรม

เราหวังให้นักศึกษา มฟล. เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี มีศักยภาพ ทำงานเป็นทีมได้ดี และรู้จักคิดเป็นแก้ปัญหาได้ เรียกรวมๆ ได้ว่า มีทัศนคติที่ดี เมื่อเติบโตเรียนจบการศึกษาออกไปทำงาน เขาจะอยู่ตรงไหนก็ได้

สถานการณ์ปัจจุบันของงานด้านทันตกรรมหรือการเรียนการสอนทันตแพทย์ เป็นอย่างไร?

ปัจจุบันงานด้านทันตกรรมหรือในวิชาชีพอื่นๆ อีกหลายอย่าง มักมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีเชิงธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วมากกว่าระบบการพัฒนาทางการศึกษาที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่และปัญหาพื้นฐาน ฉะนั้นวิชาชีพส่วนหนึ่งจึงถูกกำหนดออกมาด้วยเทคโนโลยีเชิงธุรกิจซึ่งมีผลชี้นำความต้องการของคนหรือคนไข้ อย่างในอดีตคนไข้ให้ความสำคัญเรื่องความเจ็บป่วยหรือเรื่องสุขภาพก่อน แต่ปัจจุบันให้ความสนใจเรื่องความสวยความงามหรือเทคโนโลยีก่อน (เป็นยุคที่ถูกนำด้วยธุรกิจ)

ถามว่าเรื่องนี้มีผลต่อเนื้อหาในการจัดการเรียนการสอนไหม? ต้องตอบว่ามีบ้าง เราต้องปรับหลักสูตรตามเทรนด์ ไม่ใช่เทรนด์ธุรกิจ แต่เป็นเทรนด์ในเชิงวิทยาศาสตร์ ทันสมัยเท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งพร้อมๆกันนั้นก็มีการกำกับดูแลอยู่แล้วจากองค์กรของวิชาชีพหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ ส่วนผลที่มีต่อหลักสูตรคือ การพัฒนาหลักสูตรไม่ใช่เพื่อตามธุรกิจ แต่ควรให้ทันสมัยและทันเทคโนโลยี ขณะเดียวกันหลักสูตรต้องให้ชัดเจนที่จะปลูกฝังให้หมอรู้จักคิดเป็นว่าเทคโนโลยีที่กำลังตามอยู่นั้นมันเกี่ยวข้องหรือเพื่อตอบโจทย์อะไร เพื่อช่วยเหลือคนไข้หรือเพื่อธุรกิจ ที่สำคัญเรากำลังมีนโยบายสาธารณสุขของประเทศที่กำกับโดยรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้

สำหรับโอกาสครบรอบ 5 ปี ของสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มีประเด็นใดที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ?

ปัจจุบันมี 2 ประเด็นสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือเรื่องการเตรียมกำลังคนหรือการปรับองค์กรให้พร้อมสำหรับไทยแลนด์ 4.0 ที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางหลักของประเทศ และอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญแต่ยังได้รับการพูดถึงน้อยคือการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีหลายประเด็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เฉพาะแต่ด้านทันตกรรม แต่ต้องเน้นพูดถึงการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งส่วนนี้ของ มฟล.ก็นับว่าเป็นข้อดีที่จะมีศูนย์การแพทย์ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ โดยรวมศาสตร์การแพทย์ในสาขาต่างๆ ไว้ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้กัน สามารถดูแลผู้ป่วยทั่วไปและผู้สูงอายุได้อย่างครบวงจร ในโอกาสครบรอบ 5 ปีของสำนักวิชาจึงได้จัดสัมมนาวิชาการขึ้น มีการบรรยายพิเศษใน 2 หัวข้อสำคัญที่ว่า คือ ‘การขับเคลื่อนหน่วยงานเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยสถาปัตยกรรมองค์กร’ และ ‘การดูแลผู้ป่วยสูงอายุและผู้ใหญ่ที่มีความต้องการพิเศษ’

สำหรับประเด็นการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของผู้สูงอายุ ที่ต้องการสื่อสารออกสู่สาธารณคือ ที่จริงการดูแลสุขภาพปากและฟันทั้งของคนทั่วไปและผู้สูงอายุนั้นมีความสำคัญกับสุขภาพโดยรวมที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม มีคำพูดหนึ่งที่ว่าปากคือประตูสุขภาพ ในกรณีผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยของระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะการกินการกลืน เมื่อประสิทธิภาพลดลงก็มีผลกับระบบการทำงานของร่างกาย การดูแลคนไข้แบบองค์รวม จะดูแลแต่ร่างกายไม่ดูฟันไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน เราแยกฟันออกจากร่างกายเราตั้งแต่เมื่อไหร่ สำนักวิชาทันตแพทย์จึงใช้โอกาสการจัดงานครบรอบ 5 ปี เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการสำคัญนี้ไปพร้อมกับการเปิดตัวภารกิจของสำนักวิชา ที่มีความก้าวหน้าไปตามจำนวนปีของการก่อตั้ง ให้กับชุมชนได้รับรู้ต่อไป

ผมเชี่อว่าด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของท่านอธิการบดี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะมีความเข้มแข็งและก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน

  • 8353 ครั้ง