เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ (AEDO) ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการเรียนรู้ดิจิทัล รายวิชาภาษาจีน 1 (Chinese 1) ภายใต้นโยบายโครงการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมการเรียนรู้ดิจิทัล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (MFU Digital Learning (MDL) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำบทเรียนดิจิทัลที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความเข้าใจในภาษาจีนขั้นพื้นฐาน และประยุกต์ใช้บทสนทนาภาษาจีนในชีวิตประจำวันด้วยประโยคอย่างง่ายได้อย่างถูกต้อง หลังจากได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดงานส่งมอบระบบที่ดำเนินการแล้วเสร็จนี้ ให้กับสำนักวิชาจีนวิทยา เพื่อเป็นใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีการส่งมอบอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2563 เวลา 11.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ อาคาร E4 โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นันทนา คชเสนี รองอธิการบดี เป็นประธานในพิธีส่งมอบ พร้อมด้วย ผศ.สุกัล กฤตลักษณ์วงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ โดยมี ดร.ธีรภาพ ปรีดีพจน์ รักษาการคณบดี สำนักวิชาจีนวิทยา เป็นผู้รับมอบ นอกจากนี้ยังมีทีมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ ผู้ประสานงานหลักในการพัฒนาระบบ และคณาจารย์จากสำนักวิชาจีนวิยา ในฐานะผู้ใช้งาน ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาบทเรียนดิจิทัลรายวิชาภาษาจีน 1 จนประสบความสำเร็จในครั้งนี้
ผศ.สุกัล กฤตลักษณ์วงศ์ หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ กล่าวรายงานว่า ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ มีภารกิจในการสนับสนุนการจัดทำบทเรียนดิติทัลและให้บริการกับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้ดำเนินการออกแบบบทเรียนและพัฒนาระบบการเรียนรู้ดิจิทัล รายวิชาภาษาจีน 1 มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยได้พัฒนาควบคู่มากับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ MFU Digital Learning หรือ MDL ในวาระที่ 1 รวมระยะเวลา 11 เดือน
“การพัฒนาระบบการเรียนรู้บทเรียนดิจิทัล รายวิชาจีน 1 ได้ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมการเรียนรู้ดิจิทัล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นโยบายนี้ขับเคลื่อนการศึกษาที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับการเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้แก่คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยของเรา และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Digital University โดย คณะกรรมการที่เข้ามาเกี่ยวข้องในโครงการพัฒนาบทเรียนของเรา แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ฝ่ายด้วยกัน ฝ่ายแรกก็คือฝ่ายที่ปรึกษาด้านวิชาการและด้านการเรียนรู้ดิจิตอล โดย รศ.ดร.นันทนา คชเสนี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ รศ.ดร. พัชรินทร์ ปัญจบุรี รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้กรุณาเป็นที่ปรึกษาให้กับเรา อีกฝ่ายก็คือฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่พิจารณาคุณภาพด้านวิชาการ เรื่องของการวัดและประเมินผลข้อสอบ ต้องขอขอบคุณ อาจารย์ทุกท่านจากสำนักวิชาจีนวิทยา และฝ่ายที่ 3 ก็คือ ฝ่ายพัฒนาบทเรียนดิจิทัล ทำหน้าที่ในการพิจารณาคุณภาพของการการเรียนรู้ทางด้านดิจิทัล ก็คือสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ”
“นอกจากนี้ ยังมีที่ปรึกษามาช่วยเราทำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นั่นคือศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณาจารย์จากสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็มาช่วยเราดูแลการออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งอาจารย์จากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ นับว่าเป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน ในนามของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานในการพัฒนาบทเรียนในรายวิชาจีน 1 ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนแรก ของมหาวิทยาลัยของเรา จะเป็นต้นแบบนวัตกรรมทางการศึกษา ที่สามารถยกระดับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น แล้วการจัดทำร่วมกันในครั้งนี้ คาดหวังว่าคณาจารย์จะได้รับแนวทางและประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน ให้ตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน โดยนำผลตอบรับที่ได้จากการนำไปใช้จริง รวมทั้งคำแนะนำจากอาจารย์และนักศึกษา มาพัฒนาบทเรียนของเราให้ดียิ่งขึ้นไป วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จขั้นแรก” ผศ.สุกัล กฤตลักษณ์วงศ์ กล่าว
ต่อมา นางสาวไอรดา วางกลอน เจ้าหน้าที่จาก EADO ซึ่งเป็น Project Manager การพัฒนาระบบการเรียนรู้รายวิชาภาษาจีน 1 ได้นำเสนอภาพรวมของบทเรียนดิจิทัลนี้ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานส่งมอบ ว่าลักษณะทั่วไปของระบบการพัฒนาระบบการเรียนรู้ดิจิทัลรายวิชา Chinese 1 ในรูปแบบของ Web Application มีการจัดเก็บข้อมูลบนระบบแม่ข่ายของมหาวิทยาลัย โดยตัวบทเรียนได้ออกแบบและเพิ่มความน่าสนใจโดยใช้การดำเนินเรื่องหรือว่า Story telling ผสมผสานไปกับ Game application เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน รวมทั้งมีการใช้กราฟิก แอนิเมชัน และการเล่าเรื่องราวของตัวละคร ซึ่งในเนื้อหาประกอบไปด้วยบทเรียน 10 บท แบบฝึกหัด แบบทดสอบในบทเรียน แบบทดสอบก่อน และแบบทดสอบหลังบทเรียน”
“ข้อกำหนดเฉพาะของระบบ จำแนกออกเป็น 6 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน ข้อที่ 1 ระบบรองรับการใช้งานใน browser ที่หลากหลาย เช่น google chrome safari internet explorer และ firefox แต่จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดใน google chrome ข้อที่ 2 ระบบมีการแสดงผลแบบ responsive ก็คือปรับเปลี่ยนการแสดงผลตามขนาดของอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่ โดยมีประสิทธิภาพสูงสุดหากใช้งานในโหมด landscape ก็คือหน้าจอแนวนอน ข้อที่ 3 ระบบรองรับการแสดงผลทั้งหมด 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ”
“ลำดับที่ 4 เป็นฟังก์ชันของอาจารย์ผู้สอน ที่สามารถปลดล็อคและล็อคข้อสอบได้ในฟังก์ชันของระบบ MDL ข้อที่ 5 ผู้สอนสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะการเรียนของผู้เรียน check progress และดาวน์โหลดผลคะแนนทดสอบได้ผ่านระบบ MDL และข้อ 6 เราเชื่อมต่อข้อมูลผู้ใช้งาน ทั้งข้อมูลนักศึกษา ข้อมูลอาจารย์ บุคลากร ผ่านฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัย หรือว่าเว็บไซต์ ระบบ REG และระบบ HR เพราะฉะนั้น หากนักศึกษาต้องการ login เข้าใช้งาน หรืออาจารย์เข้าใช้งานก็สามารถใช้รหัสผ่านของระบบ HR และ REG และใช้รหัสผ่านเดียวกันได้เลย”
“สำหรับการบำรุงรักษาระบบหลังการส่งมอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ server ทางทีมแอดมินของ EADO จะ monitor จำนวนผู้ใช้งานในแต่ละวัน และคอยตรวจสอบเรื่องกราฟฟิก การเข้าใช้ระบบ เงื่อนไข และข้อจำกัดต่างๆ และหากมีปัญหาด้านเซิฟเวอร์ขัดข้อง ทางทีมจะเป็นผู้ประสานงานหลัก แจ้งรายงานปัญหา ขอจัดสรร server เพิ่มเติมไปยังทีมของศูนย์ไอที ส่วนเรื่อง service จากการใช้งานเว็บไซต์ ทางศูนย์ไอทีก็จะคอยแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคที่เกิดจากฟังก์ชันต่างๆ ในระบบ ให้อาจารย์สามารถแจ้งมาได้ทั้ง 3 ช่องทางเลยของ EADO ก็คือแฟนเพจ facebook, email หรือโทร.มาที่สำนักงานได้โดยตรง เพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์ให้เป็นปัจจุบันที่สุด หากมีการแก้ไขคำศัพท์ ข้อสอบเราก็สามารถทำให้ได้ โดยส่วนสุดท้ายก็จะเป็นคู่มือและวิธีการใช้งานระบบ ทีมเราก็ได้จัดทำคู่มือประกอบการใช้งานให้กับสำนักวิชาด้วย ก่อนใช้งานจริงยังสามารถเข้าไปทดลองใช้ระบบได้ก่อนอีกด้วย” Project Manager กล่าว
ในโอกาสนี้ รศ.ดร.นันทนา คชเสนี รองอธิการบดี ได้กล่าวถึงความสำเร็จของพัฒนาระบบการเรียนรู้ ที่จะรองรับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในอนาคต
“บทเรียนดิจิทัลนี้ ถือเป็นงานแรกที่ต้องบอกว่า ในแง่ของการเตรียมวิชาที่เป็นระบบออนไลน์โดยสมบูรณ์ เต็มคอร์ส ซึ่งต้องขอขอบคุณทีมงาน และอาจารย์จากสำนักวิชาจีนวิทยา ที่ดูแลรายละเอียด ประสานงานต่างๆ และขอบคุณทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ ที่ช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และประสานความร่วมมือในการทำงานของหลายฝ่าย ทั้งทางด้านเทคนิค และเรื่องของเนื้อหา เรื่อง application และเรื่องอื่นๆ นี่ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ของเราเช่นเดียวกัน มีประเด็นต่างๆ ที่ต้องแก้ไข หวังว่าประสบการณ์ครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาทำให้การทำงานครั้งต่อไปสามารถทำได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น”
“ในนามของมหาวิทยาลัย คาดหวังว่าจะมีรายวิชาอื่นๆ โดยที่ท่านอธิการบดี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ มีเป้าหมายจะจัดทำรายวิชาพื้นฐานทั้งหมด ด้วยนักศึกษาของเรามีจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะได้เรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการ ด้วยจำนวนนักศึกษา และอาจารย์ก็มีภาระการสอนที่มหาศาล บทเรียนดิจิทัลก็จะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ท่านอธิการบดีเล็งเห็น ว่าเป็นงานเราต้องช่วยเหลืออาจารย์ ต้องดูแลรายวิชาพื้นฐาน โดยเฉพาะรายวิชา Chinese 1, Chinese 2 ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาทุกคนได้มีโอกาสเรียน ซึ่งเมื่ออาจารย์ได้ทดลองใช้แล้วมีประเด็นอะไรที่จะต้องขอให้ทีมงานปรับเปลี่ยน ก็สามารถมีข้อเสนอแนะได้ เพื่อที่เป็นแนวทางในการจัดทำรายวิชา Chinese 2 ให้สามารถใช้เวลาจัดทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”
“ต้องขอบคุณทุกฝ่าย อาจารย์สำนักวิชาจีนวิทยา ถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันในรายวิชาแรกคือ Chinese 1 และรายวิชาอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต สำหรับการใช้งานบทเรียนดิจิทัลบน application นี้ จะต้องไม่ซ้ำกับบทเรียนที่อาจารย์จะได้เจอกับนักศึกษาแบบ Face-to-Face ซึ่งจะเน้นการ discussion เสริมจากบทเรียนดิจิทัล ต้องบอกกับนักศึกษาให้ชัดเจนว่าจะต้องใส่ใจการเรียนทั้งสองด้าน ซึ่งจะทำให้การเรียนแบบ Blended Learning เกิดประสิทธิภาพ เพื่อจะสร้างนึกศึกษาให้มี self-learning skill ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกข้างหน้า ความรู้มีเยอะแยะไปหมด ทำยังไงให้เด็กไปค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง และยังเป็นการฝึก critical thinking ถือว่าเป็น problem solving ที่อาจารย์สามารถชักนำให้เกิดทัษะต่างๆ เพื่อบัณฑิตของเราก็จะมีทักษะตามที่ตลาดแรงงานต้องการ เพื่อที่เขาจะสามารถ survive ให้ได้ในโลกที่มันผันแปรตลอดเวลา” รองอธิการบดี กล่าว