เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
ขอแสดงความยินดีชื่นชมนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ที่ริเริ่มออกแบบและสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วยสูญเสียแขนและขาหลังการผ่าตัดรักษาโรคหรืออุบัติเหตุ ในผลงาน “การออกแบบและสร้างอุปกรณ์พันตอขาระดับใต้เข่าชนิดควบคุมระบบความดัน” (Design and fabrication of below knee stump bandage instrument using pressure control) โดยผลงานออกแบบนี้เป็นแนวคิดริเริ่มจากนักศึกษาสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 (ในขณะนั้น) และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์มาให้คำปรึกษาร่วมกับอาจารย์แพทย์ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับนักศึกษาสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการและสำนักวิชาการจัดการ เพื่อให้ผลงานออกแบบมีความสมบูรณ์มากที่สุดในทุกมิติ
โดยผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญเงิน ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในงาน “Thailand New Gen Inventors Award 2020” (I-New Gen Award 2020) กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอับดับ 2 ระดับประเทศ “โครงการเส้นทางสู่นวัตวาณิชย์" Research to Market Thailand 2020 ระดับประเทศ ประจำปี 2563 จัดโดย อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศผลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จังหวัดสงขลา
นางสาวธิดาเทพ หมื่นวิเศษ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สำนักวิชาแพทยศาสตร์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ผ่าตัดขาจะมีปัญหาเกี่ยวกับการบวมของตอขาภายหลังการผ่าตัด ซึ่งจะส่งผลต่อการใส่กายอุปกรณ์เทียม(ขา-แขนเทียม) โดยวิธีการที่ใช้ลดการบวมในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การพันด้วยผ้ายืด (Elastic Bandaging) ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องพันตอขาทุก 6 ชั่วโมงเพื่อให้มีความกระชับตลอดเวลาโดยใช้ผ้ายืดด้วยวิธีการที่ถูกต้องเพื่อทำให้ตอขายุบบวมและได้รูปที่เหมาะสมสำหรับการใส่กายอุปกรณ์เทียม
จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยทุกรายที่เข้ารับการผ่าตัดขามีปัญหาในเรื่องของการพันตอขาที่ไม่เหมาะสมจึงได้มีการสอนผู้ป่วยถึงการพันตอขาด้วยเทคนิคที่เหมาะสมก่อนออกจากโรงพยาบาล
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยกลับไปพันเองที่บ้านพบว่า ผู้ป่วยยังไม่สามารถพันตอขาได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับตอขา และในผู้ป่วยบางรายไม่แกะออกมาพันใหม่เป็นระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง ทำให้ตอขาเกิดรอยยับและติดผิวหนังส่งผลให้เกิดความเสียหายกับตอขา นอกจากนี้การพันตอขาที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ การบวม การติดเชื้อ การปวดของบาดแผล (Stump Pain) แผลแยกเลือดออก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อต่อไม่สามารถขยับได้ และการสูญเสียความรู้สึกทางระบบประสาท
“ทีมวิจัยร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาถึงวิธีการและรูปแบบที่เหมาะสม รวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมในวงการแพทย์ พบว่ายังไม่มีการนำซิลิโคนมาที่ใช้แรงดันควบคุมการรัดตอขามาขึ้นรูปทรงสำหรับสวมรัดตอขาหลังจากการผ่าตัด เพื่อลดอาการบวมและการเสียรูปของตอขาก่อนการใส่กายอุปกรณ์เทียม ดังนั้นทีมวิจัยจึงมีความสนใจในการประยุกต์นำหลักการเรื่องแรงดันมาใช้ในการออกแบบและศึกษาวัสดุที่สามารถควบคุมแรงดันได้ ซึ่งจะช่วยในการพันตอขาให้ได้รูปที่เหมาะสมต่อการใส่กายอุปกรณ์เทียม และลดความเจ็บปวดของการใส่กายอุปกรณ์เทียมที่ไม่เข้ารูป ทำให้ผู้ป่วยเกิดความ
พึงพอใจสูงสุดต่อการใช้กายอุปกรณ์เทียมโดยมีหลักในการพัฒนานวัตกรรมที่สำคัญ คือ ความง่ายในการใช้สอย ไม่ขัดขวางการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย ราคาถูก และไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา” นางสาวธิดาเทพ กล่าว
รายชื่อนักศึกษาที่ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในงาน “Thailand New Gen Inventors Award 2020” (I-New Gen Award 2020) กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
นางสาวธิดาเทพ หมื่นวิเศษ สำนักวิชาแพทยศาสตร์
นายชมชน คล่องการเขียน สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
นางสาวทัตพิชา พีรกิตติกุล สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ
นางสาวอาวีณา สุขเหลือง สำนักวิชาการจัดการ
นายเกริกเกียรติ สมศรี สำนักวิชาการจัดการ
นายศักย์ศรณ์ จันทรส สำนักวิชาการจัดการ
โดยมี อาจารย์ นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล, อาจารย์ นายแพทย์กิตติศักดิ์ ฐิติปัญญา อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธี วัฒนศิริเวช อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
นอกจากนี้ผลงานออกแบบและประดิษฐ์ดังกล่าว ได้รับการนำเสนอต่อยอดใน “โครงการเส้นทางสู่นวัตวาณิชย์" จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอับดับ 2 ระดับประเทศ “โครงการเส้นทางสู่นวัตวาณิชย์" Research to Market Thailand 2020 ระดับประเทศ จัดโดย อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ชื่อ ทีม Syntonic ประกอบด้วย
นายชมชน คล่องการเขียน สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
นางสาวทัตพิชา พีรกิตติกุล สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ
นางสาวอาวีณา สุขเหลือง สำนักวิชาการจัดการ
นายเกริกเกียรติ สมศรี สำนักวิชาการจัดการ
นายศักย์ศรณ์ จันทรส สำนักวิชาการจัดการ