เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
สทนช. ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บูรณาการความร่วมมือโครงการวิจัยร่วมบริหารจัดการน้ำแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย – น้ำรวก ระหว่างไทยและเมียนมา พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัยปรับใช้เพื่อความยั่งยืน หวังความสำเร็จของโครงการฯ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน 2 ประเทศ
.
วันนี้ (27 มกราคม 2563) ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และรองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการวิจัยร่วมเพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย-น้ำรวก ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Joint assessment of Thailand and Myanmar on flood and drought for transboundary water resources management) เพื่อดำเนินโครงการวิจัยร่วมเพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย-น้ำรวก ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาครั้งนี้ เป็นความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านกองทุนพิเศษ MLC Special Fund พ.ศ. 2561 วงเงินประมาณ 10 ล้านบาท (2,450,000 หยวน) เริ่มดำเนินการในปี 2563 เป็นระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี
.
สำหรับโครงการวิจัยร่วมฯ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากปัญหาการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสายหรือแม่น้ำรวก ซึ่งเป็นแม่น้ำที่กั้นชายแดนระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยกั้นเขตแดนจากอำเภอท่าขี้เหล็ก แขวงท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ซึ่งสภาพทั่วไปของลำน้ำ มีลักษณะคดเคี้ยวผ่านภูมิประเทศที่มีเขาสูง เมืองที่อยู่อาศัย ที่ราบลุ่มสำหรับทำการเกษตร จนไหลลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อมีน้ำไหลลงลำน้ำในปริมาณมากในช่วงฤดูฝน จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมืองโดยรอบและและบริเวณพื้นที่ทำการเกษตร ในทั้ง 2 ฝั่งของประเทศ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะประสบปัญหาไม่มีน้ำสำหรับการเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เกิดเป็นโครงการความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำดังกล่าว ผ่านกลไกต่าง ๆ ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาและวิจัยร่วม การพัฒนาและแบ่งปันเครือข่ายข้อมูลการฝึกอบรมร่วม การสัมมนา เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยสำหรับประเทศไทย สทนช. จะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ในการดำเนินโครงการ
.
“เนื่องจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย เป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่มีความคุ้นเคยกับหน่วยงานสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิสังคมท้องถิ่นเป็นอย่างดี อันถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความความเข้าใจในการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง และระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วในฤดูน้ำฝน สทนช. จึงได้ลงนาม MOU ร่วมกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินความร่วมมือในการสนับสนุนการบริหารจัดการลุ่มน้ำระหว่างประเทศ ผ่านกลไลความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ล้านช้าง และพัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะมีการนำความรู้ในด้านเทคโนโลยีของประเทศจีน ภายใต้ MLC ที่เกี่ยวกับมาตรการเชิงโครงสร้างด้านทรัพยากรน้ำ (Water Resources Structural Measure) มาร่วมปรับใช้ด้วย โดยมุ่งหวังว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนสองฝั่งของแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวกของทั้งไทยและเมียนมา ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตโดยเร็ว” ดร.สมเกียรติ กล่าว.