เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ให้การต้อนรับ สวก.และสื่อมวลชน ที่เข้าฟังบรรยายสรุปผลงานวิจัยที่ได้ทุนสนับสนุนจนสามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สู่ท้องตลาด
ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. ให้การต้อนรับ นางสาวสมหญิง ธีรเดช ผู้อำนวยการกลุ่มงานผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. พร้อมคณะสื่อมวลชนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรม “รอบรู้งานวิจัยกับ สวก.” ณ ห้องพวงชมพู ชั้น 5 อาคาร M-Square มฟล. โดยมีส่วนบริการงานวิจัย มฟล. เป็นผู้ประสานงาน
สำหรับโครงการที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นผลงานวิจัยจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มฟล. จำนวน 3 ชิ้น ได้แก่ 1.โครงการ “รวงข้าวเพื่อใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มยุรี กัลยาวัฒนกุล เป็นหัวหน้าโครงการ 2. โครงการ “การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากการเพาะเลี้ยงจมูกข้าว” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิสากร แซ่วัน เป็นหัวหน้าโครงการ และ 3.โครงการ “การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเส้นผมในสารสกัดข้าวสีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วงจากสารสกัดข้าวมีสี” โดย ดร.ณัตฐาวุฒิ ฐิติปราโมทย์ เป็นหัวหน้าโครงการ
ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ กล่าวว่า มฟล. ให้ความสำคัญกับการวิจัย เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาการเรียนการสอนและความก้าวหน้าทางด้านวิชาการของอาจารย์ ในภาพรวมนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สวก. จำนวน 23 โครงการ วงเงินงบประมาณ 26,275,461 บาท ในการดำเนินโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ที่มุ่งเน้นในเรื่องข้าว อาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและการค้า สมุนไพรไทย พืชสวน/พืชไร่
โครงการ “รวงข้าวเพื่อใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ” เป็นการศึกษาวิจัยสารสกัดรวงข้าว 5 สายพันธุ์ คือ ข้าวเจ้าพันธุ์สุพรรณบุรี 1 พิษณุโลก 2 ข้าวมะลิ 105. ข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 และ กข6 พบว่า สารสกัดกลุ่ม bound phenolics ของรวงข้าวดอกมะลิ 105 มีประมาณฟินอลิครวมสูงที่สุดและมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสเอนไซน์อิลาสเตส และคอลลาจีเนสได้ดี ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นตำรับเวชสำอ้างรูปแบบครีมน้ำมันในน้ำ ที่มีความคงตัวเพื่อเคมีและกายภาพดี ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้น ลดรอยหมองคล้ำ ลดริ้วรอยกระชับผิวและเพิ่มความเรียบผิวให้ดีขึ้น
โครงการ “การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากการเพาะเลี้ยงจมูกข้าว” นวัตกรรมที่กำลังนิยมมากในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในขณะนี้คือ เครื่องสำอางจากสเต็มเซลล์ หรือเครื่องสำอางที่มีสารสำคัญที่สกัดจากแคลลัส ซึ่งประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ กรดอะมิโน กรดนิวคลีอิก และ growth factor ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติชะลอความชราที่มีประสิทธิภาพสูง และยังมีความปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ หรือสารเคมีตกค้าง ผู้วิจัยจึงได้นำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมาประยุกต์ใช้ในการเพาะเลี้ยงจมูกข้าวให้กลายเป็นแคลลัส หรือสเต็มเซลล์ เพื่อผลิตสารสกัดที่อุดมไปด้วยสารชะลอความชราที่มีประสิทธิภาพสูง โดยสารสกัดที่ได้จากระบวนการนี้ยังมีความปลอดภัยสูง ทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ และสารเคมีตกค้างที่พบในสารสกัดจากส่วนอื่น ๆ ของพืช
โครงการ “การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเส้นผมในสารสกัดข้าวสีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วงจากสารสกัดข้าวมีสี” "ข้าวสังข์หยด" ถือเป็นข้าวพื้นเมืองของไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าพันธุ์ข้าวชนิดอื่น ๆ อุดมไปด้วยสารอาหารทั้ง กรดโฟลิกโพแทสเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส กาบา มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีใยอาหารช่วยละลายน้ำได้สูง ช่วยบำรุงร่างกายและป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น การพัฒนาสารสกัดจากข้าวสังข์หยดที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์รากผมพบว่ามีฤทธิ์สูงสุดเมื่อเทียบกับข้าวสายพันธุ์อื่น นักวิจัยจึงได้นำสารสกัดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วง 3 รูปแบบ ได้แก่ แชมพู ครีมนวดผม และ แฮร์โทนิก โดยทดสอบกับอาสาสมัครพบว่า ช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ทำให้เส้นผมแข็งแรงขึ้น และสามารถกระตุ้นการงอกใหม่ของเส้นผมในบริเวณศีรษะล้านได้ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ และยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว