เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) นำโดย ผศ.ดร. ร่มเย็น โกไศยกานนท์ อาจารย์ประจำ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สำนักวิชาการจัดการ ลงพื้นที่ที่หมู่บ้านดอยช้าง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย หนึ่งในการเรียนรู้และประเมินความรู้และทักษะของรายวิชาเศรษฐศาสตร์เพศภาวะ (Gender Economics) หลังจากได้เรียนและถกเถียงเรื่องของมโนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญๆ และการวิพากษ์จากมุมมองของเพศภาวะ เพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้นำสิ่งที่เรียนจากห้องเรียนมาศึกษาสำรวจในพื้นที่-สถานการณ์จริง ใช้พื้นที่ดอยช้างเป็นกรณีศึกษา นักศึกษาแต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้ออกแบบการเก็บตัวเลขมวลรวมประชาหมู่บ้าน มีดอยช้างเป็นกรณีศึกษา โจทย์มีเพียงข้อเดียวคือ ส่งคำตอบที่เป็นตัวเลขพร้อมคำอธิบายผ่านการนำเสนอ
โดยแต่ละกลุ่มต้องค้นคว้าว่าการเก็บตัวเลข GVP (Gross Village Product) มีได้กี่วิธี และมันมืดบอดจากมุมมองของเพศภาวะอย่างไร ตลอดจนหาวิธีแก้ความมือบอดนั้น ตัดสินใจเลือกแนวทางในการเก็บข้อมูล เครื่องมือ วิธีการแบบคร่าวๆ และนำมาเสนอ รับข้อคิดเห็นแล้วนำไปวางแผนอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขหลวมๆ ว่ามีเวลาเพียง 3 วัน 2 คืน ในหมู่บ้านดอยช้าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านของพี่น้องลีซู ซึ่งคนจำนวนหนึ่งยังคงใช้ภาษาลีซูในชีวิตประจำวัน จึงมีการออกแบบเพื่อช่วยให้นักศึกษาอย่างน้อยๆ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนจำนวนหนึ่ง
เมื่อนักศึกษาเดินทางถึงหมู่บ้าน ได้มีการจัดพิธีรับขวัญแบบลีซู เพื่อบอกเล่าถึงวัฒนธรรมของที่นี่ ที่นับถือผี และบรรพบุรุษ (หรือบรรพชน?) มันเป็นวัฒนธรรมผสมระหว่างลีซูและจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ นักศึกษาได้ฟังการบรรยายของผู้นำหญิง เป็นการให้ภาพมหภาคของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเกษตร พึ่งพาการทำกาแฟ มะคาดีเมีย ข้าวไร่ พืชเมืองหนาวประเภท ท้อ ลูกไหน และผักที่ปลูกในสวนกาแฟ พืชผักสวนครัวในบ้าน นอกภาคเกษตรมีการท่องเที่ยว รับจ้าง ร้านค้าปลีก platform economy และเปิดให้มีการซักถาม จากนั้นเป็นการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล 5 คน ที่มีภูมิหลังต่างกัน ทั้งผู้หญิงโสดวัยกลางคน ผู้หญิงชาติพันธุ์ลีซูที่แต่งงานกับคนจีน ผู้หญิงลีซูที่แต่งงานและอยู่ในครอบครัวของสามี ผู้หญิงลีซูที่แต่งงานแล้วแยกครอบครัว
นอกจากนี้นักศึกษายังแบ่งเป็นกลุ่มเพื่อเข้าพักกับชาวบ้านลักษณะเป็น Home Stay เพื่อหวังว่าแต่ละกลุ่มจะได้มีโอกาสพูดคุย เรียนรู้กับบ้านที่ไปอยู่ สังเกตทั้งแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้หญิง ผู้ชาย ในอาณาบริเวณบ้าน ได้ออกไปช่วยเก็บกาแฟ หรือทำงานอื่นๆ ซึ่งในแต่ละวันจะมีการถาม ชี้ชวน ให้คิด เปิดโอกาสให้ถาม ทั้งในแง่วิธีการเก็บข้อมูล หลังจากแต่ละกลุ่มได้ลงพื้นที่
อาจารย์ผู้สอนระบุว่า การนำนักศึกษาลงพื้นที่จริงหลังจากเรียนทฤษฎีจากชั้นเรียนแล้ว สังเกตเห็นหลายอย่าง ทั้งระดับความตั้งใจและความใส่ใจของแต่ละกลุ่มแต่ละคนไม่เท่ากัน บางกลุ่มนำโจทย์มาขบคิดตลอด
“เมื่อลงพื้นที่จริง ได้เห็นการวางแผนและทฤษฎี เมื่อนำมาใช้จริงๆ ต้องมีการปรับ สะท้อน ปรับ และตัดสินใจ แต่การทำงานกลุ่มภายใต้แรงกดดันของหลายๆ อย่าง ทำให้กลุ่มต้องมีทักษณะในการสื่อสาร ดึงจุดเด่นของคนในกลุ่ม ถกเถียงอย่างมีเหตุผล ตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขที่มี แก้ปัญหาเฉพาะหน้า การบริหารตัดการเวลา การบริหารความสัมพันธ์ เหล่านี้คือทักษะในศตวรรษที่ 21”
สำหรับการเลือกพื้นที่หมู่บ้านดอยช้างถูกเลือกให้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษา นั้นมีหลายเหตุผล อย่างหนึ่งคือ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ระดับมาตรฐาน เท่าทันโลกและฉลาดพื้นที่
“พื้นที่เชียงรายเป็นพื้นที่พิเศษที่มีกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์เยอะมาก แต่เรากลับไม่ค่อยรู้จักเค้าแบบลึกซึ้งหรือสัมผัสเขาโดยตรง การลงพื้นที่ด้วยโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สัมผัส เข้าใจ”
นอกจากนี้พื้นที่ดอยช้าง มีลักษณะเป็นพื้นที่ปิด เป็นการจำลองประเทศและเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้ขบคิดเรื่องการเก็บข้อมูลในสถานการณ์จริง และการกำหนดโจทย์เรื่องเพศภาวะ และใช้พื้นที่ดอยช้าง เป็นการจัดการเรียนรู้ให้เห็นเพศภาวะว่าเป็นประเด็นโครงสร้างทางวัฒนธรรม รวมถึงการเรียนรู้ทักษะการทำงานข้ามวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมของตัวเองและเพื่อน (บางคนพูดมาก พูดน้อย บางคนชอบตาม บางคนชอบนำ บางคนมีวิธีการทำงานเฉพาะแบบ) ตลอดจนวัฒนธรรมของตัวเองและชาวบ้าน และการได้เรียนรู้ตัวเอง ซึ่งนักศึกษาได้ทำ self reflection แล้วเบื้องต้น ตอนนี้เหลือการนำเสนอครั้งสุดท้าย
ทั้งยังมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเก็บข้อมูล และในฐานะผู้ออกแบบการเรียนก็ประคับประครองทุกสถานการณ์เพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในแง่ วิชาการ ทักษะทางวิชาการ และทักษะชีวิต ด้วยคิดว่านี่เป็นทางเดียวที่นักศึกษาจบออกไปแล้วจะใช้ชีวิตได้ในโลกยุคนี้แบบพลเมืองโลกที่มีความรู้ ทักษะเศรษฐศาสตร์ที่มีหัวใจ
เรื่องและภาพ : ผศ.ดร. ร่มเย็น โกไศยกานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ