เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้

สำนักวิชาจีนวิทยา มฟล. ร่วมจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ นักวิชาการจากประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมล้น

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

            มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ นครเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการนานาชาติ “International Conference Belt and Road Initiative Lancang-Mekong Cooperation:Shared Future for Sustainable Connectivity เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมคำหมอกหลวง อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ โดยมี นายพิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ รศ. ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. รศ. โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายเหริน อี้เชิง กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เข้าร่วมอย่างล้นหลาม ทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิและบุคลากรจากภาครัฐ และภาคเอกชนของไทย จากเวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย และจีน ตลอดจนนักศึกษาจีนที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 250 คน

               การประชุมวิชาการดังกล่าวเป็นการเปิดเวทีเชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ บุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทย-จีน และนานาชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) สป.จีน ที่มุ่งสร้างเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน กรณีของพื้นที่ภาคเหนือของไทยคือกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
ภาคเช้ามีปาฐกถาพิเศษโดยวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ อาทิ นายพิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงต่างประเทศ, นายเฉิน เต๋อไห่ เลขาธิการศูนย์จีน-อาเซียน, รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ ประธานกรรมการจัดตั้ง มฟล., รศ. โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนภาคบ่ายมีการอภิปรายกลุ่มย่อยเรื่องการเชื่อมโยงอย่างยั่งยืนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเกษตรกรรม การป้องกันและควบคุมหมอกควัน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และนักวิชาการจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มฟล. ผู้บริหารจาก Beijing Bodao IT Corporation และ LVYUE ฯลฯ

               นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักวิชาการจัดการ มฟล. และผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจากประเทศจีน ฯลฯ ร่วมอภิปรายเรื่องอนาคตทางการค้าร่วมกัน การลงทุนและการท่องเที่ยวด้วย

               นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ นครเชียงใหม่ กล่าวช่วงหนึ่งของการประชุมวิชาการว่า ปีนี้เป็นปีครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และจีนมีเป้าหมายสร้างสังคมที่ดีในช่วง 100 ปีแรก ซึ่งผลจากการปฏิรูปและเปิดประเทศที่ผ่านมาทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 9.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น 30% ในช่วงหลายปี

               ทั้งนี้ช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จีนได้รับผลกระทบด้านการค้ากับสหรัฐอเมริกา แต่เศรษฐกิจของจีนก็ยังเติบโตขึ้นถึง 6.3% และจะเห็นได้ว่ายังคงเป็นดั่งสมอเรือที่มั่นคงอยู่ และจีนยังคงเป็นดั่งผู้สนับสนุนโลกต่อไป และขอยืนยันว่าจีนยังคงให้ความสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงและการพัฒนา จริงใจ เป็นกันเองและซื่อสัตย์ โดยใช้นโยบายต่างประเทศในความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งต้อนรับประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาร่วมกัน

                กงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ นครเชียงใหม่่ กล่าวว่า สำหรับแม่น้ำโขงนั้นถือว่าอยู่ในจุดตัดของโครงการ One Belt One Road ของจีนที่เกี่ยวข้องความร่วมมือกับอีก 5 ประเทศ ทำให้ในปี 2561 ที่ผ่านมาการค้าระหว่างจีนกับอีก 5 ประเทศดังกล่าวมีสูงถึง 261,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผู้คนเดินทางไปมาหากันกว่า 45 ล้านคน ก่อให้มีเที่ยวบินขึ้นถึง 2,614 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

                 สำหรับประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีความสำคัญและเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน ดังนั้นจีนยังคงรักษาสถานะประเทศไทยให้เป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาไทย-จีน โดยเฉพาะทางภาคเหนือของไทยที่อยู่ใกล้กันมีการขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อยู่เสมอ และในปี 2561 ก็มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยร่วม 10.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เดินทางไปเที่ยวภาคเหนือมากถึง 2 ล้านคน

                 นาย เหริน ยี่เซิง กล่าวด้วยว่า ไทยมีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจด้วยเช่นกันจึงถือว่ามีความสอดคล้องกัน และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคนี้ได้ ขณะที่ภาคเหนือก็เป็นแหล่งวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ที่งดงาม มีประวัติความเป็นมายาวนาน 750 ปี ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงให้ความสำคัญต่อโครงการ One Belt One Road เพื่อยกระดับยุทธศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่และเชียงรายให้เป็นเหมือนหัวสะพาน เชื่อมต่อการขยายการพัฒนาของแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงต่อไป
 

  • 1568 ครั้ง