เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้

รมช.ศธ.บรรยายพิเศษ การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

         เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา’ โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่หอประชุมสมเด็จย่า มฟล. โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ พนักงาน และนักศึกษา รวมถึงบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เชียงราย เป็นต้น  จำนวนกว่า 1,000 คน สนใจเข้ารับฟังการบรรยายดังกล่าว

รมช.ศธ. ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม  ก่อนเข้าสู่การบรรยายตามหัวข้อ ว่า พ.ร.บ.จัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ ผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว แต่ยังมี พ.ร.บ.ประกอบการจัดตั้งกระทรวงใหม่อีก 2 -3 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดใช้เวลาไม่เกินกลางเดือนหน้า (ธค.) เร่งให้ทันเลือกตั้ง หรือเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ สร้างทรัพยากรมนุษย์รับการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก

จากนั้นจึงได้เริ่มบรรยายถึง ‘การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา’ โดยได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างการคาดการณ์เกี่ยวกับกำลังคนในอนาคต ยกกรณีธนาคารหลายแห่งที่ลดจำนวนสาขาหรือพนักงานลงเน้นการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงได้ยกข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีลดจำนวนลงเรื่อยๆ รวมถึงระดับสูงกว่าปริญญาตรี อย่างปริญญาโทก็เช่นกันนั้นว่ามีเหตุจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิดลดลงหรือการผลิตกำลังคนไม่ตอบโจทย์ตลาดงาน โดยระบุว่ามีข้อมูลจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ให้ความเห็นว่าต้องการให้นักศึกษาใช้เวลาเรียน 50% จากทั้งหมดตลอดหลักสูตร เรียนในสถานประกอบการจริง ผ่านการสอนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมกับผู้ประกอบการ

ทั้งยังได้กล่าวต่อว่า การจัดอันดับเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษา จากหน่วยงานต่างๆ นอกจากเป็นข้อมูลสำคัญในการเลือกเข้าศึกษาต่อได้แล้ว ยังเป็นข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติใช้ตัดสินใจลงทุนในประเทศนั้นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นภาพสะท้อนคุณภาพกำลังคน เช่นเดียวกับข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนงานวิจัยหรือจำนวนสิทธิบัตร ที่บอกถึงความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยประเทศที่อยู่ในอันดับต้น อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังได้พูดถึงความนิยมเรียนในสายวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยว่ามีจำนวนน้อย ระบุว่ามาจากค่านิยมที่หวังเพียงเรียนจบมหาวิทยาลัยในสายใดก็ได้ ในขณะที่ประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาที่ต้องการกำลังคนบางสายจำนวนมาก ทั้งยังได้พูดถึงเด็กรุ่นใหม่ที่หาความรู้ได้เอง, โรงงานอุตสาหกรรมใช้เครื่องจักรกลแทนคน, มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยเปิดสอนและรับนักศึกษา ภาคธุรกิจต้องการงานวิจัยประกอบการพัฒนา ฯลฯ ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่มหาวิทยาลัยและอาจารย์ผู้สอนต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง

ศ.คลินิก นพ.อุดม  บรรยายต่อถึงแนวทางต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจากทั่วโลกปรับตัวเพื่อจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า มหาวิทยาลัยในหลายประเทศเพิ่มเป้าหมายในการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ จากกลุ่มนักเรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังเพิ่มไปยังกลุ่มคนทำงาน ที่ต้องการเพิ่มหรือพัฒนาทักษะหรือเรียกว่า UP SKILL หรือ RE SKILL อย่างในประเทศไทย ในตลาดงาน มีเพียง 25% ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่สามารถรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อ UP SKILL แล้วส่งคืนสู่ตลาดงานให้เร็วที่สุด ทั้งยังมีกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันทวีจำนวนสูงขึ้นทั่วโลกตามที่เรียกว่าสังคมผู้สูงอายุ โดยตลาดงานยังต้องการแรงงานจากประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งต้องการการ UP SKILL เช่นเดียวกันก่อนกลับสู่ตลาดงาน ทั้งยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าผู้สูงอายุจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อได้กลับสู่การทำงาน

นอกจากนี้บริษัทระดับโลก จำนวนหนึ่ง อย่าง กูเกิล ไอบีเอ็ม แอปเปิ้ล  สตาร์บัค ฯลฯ ที่รับสมัครงานโดยไม่ต้องมีใบปริญญา หันมาให้ความสำคัญกับสมรรถนะในการทำงาน ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอน ไม่เพียงเท่านั้น กูเกิล ยังเปิดหลักสูร IT  ระยะเวลาเรียนเพียง 8 เดือน มีคนเรียนและจบการศึกษาแล้ว และมีหลายบริษัทที่รับคนกลุ่มดังกล่าวเข้าทำงานแล้ว ทั้งยังมีมหาวิทยาลัยในอเมริกา ที่ทำหลักสูตรปริญญาตรี โดยใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปีแล้ว 

“โจทย์ต่างๆ เหล่านี้ที่กำลังท้าทายมหาวิทยาลัยไทย เมื่อการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ ทั้งสถานที่และเวลา จะไม่ถูกเลือก การเรียนการสอนที่เน้นสร้างสมรรถนะ ทักษะ ความรู้ ต่างหากที่สำคัญ ตลอดจนการเรียนการสอนแบบให้เสรีภาพกับผู้เรียนในการเลือกเรียนด้วยตัวเอง จะทำลายกำแพงของคณะ ของภาควิชา สื่อการเรียนการสอนมีหลากหลาย ทั้งออฟไลน์ ทั้งออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างแท้จริง”  รมช.ศธ. กล่าวถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังปรับตัวเพื่อพัฒนากำลังคนให้เท่าทัน

  • 1420 ครั้ง