เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ EEC ในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ผ่านการทำคลิปประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ ณ โรงแรมแมนดาริน อีสต์วิลล์ พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมี ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวรายงาน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ให้ความไว้วางใจ และสนับสนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกวาระ ในปี 2567-2568 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ EEC ในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ผ่านการทำคลิปประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการระยะที่สาม และเป็นโครงการภาคจบ ที่จะทำให้ทราบว่า Smart Teacher ซึ่งอยู่กับเรามาก่อนหน้านี้แล้ว 2 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการมา Coach ให้กับนักเรียน และครู จากโรงเรียนในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 15 โรงเรียน ได้มากน้อยเพียงใด
โดยโครงการในรอบปีนี้มีวัตถุประสงค์หลัก ๆ เพื่อเป็นเวทีแสดงศักยภาพของครูต้นแบบ หรือ Smart Teacher จำนวน 10 คน ประกอบด้วยกลุ่มสาระวิชาภาษาอังกฤษ 5 คน และกลุ่มสาระวิชาภาษาจีน 5 คน มาทำหน้าที่เป็น Learning Coach ให้กับโรงเรียนทั้ง 15 โรงเรียนที่ตนเองรับผิดชอบ โดย Smart Teacher 1 คน จะรับผิดชอบ 3 โรงเรียน มีหน้าที่ให้คำปรึกษา สอนเทคนิควิธีการในการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน รวมทั้งนำทุกๆ กระบวนการเรียนรู้มาใช้ เพื่อให้ครูผู้สอนและผู้เรียนทั้ง 120 คน ได้รับการพัฒนาตามศักยภาพ และทักษะของตนเอง รวมทั้งเกิดการสร้างเครือข่ายครูผู้สอนในพื้นที่ EEC ต่อไป
ด้านอาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ เปิดเผยว่า โครงการในระยะที่ 3 ได้มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้เรียนและครูผู้สอน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งสิ้น 120 คน จากโรงเรียนในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 15 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงเรียนในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 5 โรงเรียน ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 และ 2 ประกอบด้วย
1. โรงเรียนบ้านบึง อุตสาหกรรมนุเคราะห์
2. โรงเรียนบางละมุง
3. โรงเรียนชลกันยานุกูล
4. โรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร
5. โรงเรียนพานทอง
6. โรงเรียนระยองวิทยาคม
7. โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย
8. โรงเรียนปลวกแดงพิทยาคม
9. โรงเรียนนิคมวิทยา
10. โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง
11. โรงเรียนพนมสารคาม พนมอดุลวิทยา
12. โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
13. โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2
14. โรงเรียนดัดดรุณี
15. โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร
แต่ละโรงเรียนจะมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 2 คน และผู้เรียน จำนวน 6 คน แบ่งเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมสาระวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 4 คน และทีมสาระวิชาภาษาจีน จำนวน 4 คน โดยครูผู้สอนที่อยู่ในแต่ละทีมจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เรียนในโรงเรียนของตนเอง ซึ่งทั้งหมดจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านภาษา และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากวิทยากรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อจัดทำคลิปวีดิโอสั้น ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC โดยมีการสอดแทรกเนื้อหา ภารกิจ เป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนา EEC เพื่อสร้างการรับรู้ให้ทั้งประชาชนและนักธุรกิจชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของโครงการฯ จะมีการจัดแข่งขันประกวดคลิปวีดิโอสั้นที่ได้รับการสร้างสรรค์ดังกล่าว เพื่อชิงเงินรางวัลต่อไป
ด้าน ดร.ธัชพล กาญจนกูล กล่าวว่า สำนักงาน EEC มีนโยบายสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ผ่าน “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยมี 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนประเทศ และตั้งแต่เริ่มพัฒนา EEC ได้พบสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการที่สุด คือ การพัฒนาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะแรงงานขั้นสูง เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีแต้มต่อในการเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่
สำนักงาน EEC มองเห็นถึงปัญหาความต้องการบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงมาตั้งแต่ช่วงเริ่มดำเนินการ EEC และได้วางนโยบายเพื่อการพัฒนาบุคคลากรเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมา EEC ได้พัฒนาบุคคลากรตามความต้องการแล้วกว่าแสนคน จากทั้งหมด ๔ แสนคน โดยบางส่วนอยู่ระหว่างการฝึกอบรม ทั้งได้มีการชักชวนนักลงทุนให้เข้ามาร่วมฝึกบุคลากรอย่างต่อเนื่อง วันนี้ ผมอยากจะขอบคุณมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ได้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนระบบการศึกษาในพื้นที่ และสนับสนุนนโยบายการพัฒนากำลังคนของ EEC ขอบคุณผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ชลบุรี - ระยอง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ฉะเชิงเทรา ที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการที่จะนำโมเดลการดำเนินงานโครงการไปต่อยอด ขยายผล สู่โรงเรียนอื่น ๆ เป็นวงกว้าง ขอบคุณคณะผู้บริหาร ครู และนักเรียนทุกคน ที่มีความกระตือรือร้นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ของเรา