สถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง จับมือ LongBeach นำร่อง “ฟื้นอาชีพ” ผู้ประกอบการร้านคาเฟ่ในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

สถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง จับมือ LongBeach นำร่อง “ฟื้นอาชีพ” ผู้ประกอบการร้านคาเฟ่ในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 จังหวัดเชียงรายต้องประสบกับสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมจำนวนหลายครั้งในช่วง 2 เดือน ส่งผลให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการในเขตอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สาย และอีกหลายพื้นที่ ไม่สามารถฟื้นกิจการได้ในเร็ววันด้วยปัจจัยอันหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการเคลียร์พื้นที่ร้าน การซ่อมแซมอุปกรณ์ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ “กำลังใจ” ทั้งจากตัวเอง ครอบครัว และลูกค้า ที่จะช่วยผยุงให้ผู้ประกอบการลุกขึ้นได้อีกครั้ง

เดือนกันยายน 2567 สถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เริ่มดำเนินการระดมทุนเพื่อช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง โดยได้รับการประสานจากเครือข่ายในพื้นที่ และจากนายก อบต.เทอดไทย เพราะตำบลเทอดไทยนับได้ว่าเป็นแหล่งปลูกชาแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ที่สถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและคัดเลือกผลิตภัณฑ์นำส่งประกวดในระดับนานาชาติ ซึ่งเงิน - สิ่งของบริจาคที่ได้รับมาจากผู้มีจิตศรัทธา สถาบันชาและกาแฟฯ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อส่งมอบสิ่งของและกำลังใจอย่างต่อเนื่อง

เมื่อระยะเวลาผ่านไปร่องรอยความเสียหายยิ่งชัดเจน หลายพื้นที่ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ทรัพย์สินที่มีเสียหายและสูญหายไปกับสายน้ำ ที่พอจะมีคงเหลืออยู่ก็จะต้องนำมาดำรงชีพ และเป็นค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด ซ่อมแซม และฟื้นฟูสภาพบ้าน-ร้านค้า ทำให้หลายคนหมดกำลังใจ หมดกำลังทรัพย์ และอยากจะหันหลังให้กับธุรกิจที่เคยทำอยู่ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยาภรณ์  เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการด้านร้านคาเฟ่ ได้มีการพูดคุยถึงสิ่งที่ธุรกิจร้านคาเฟ่กำลังประสบอยู่จากสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันทำให้เกิดความเสียหายทั้งอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ วัตถุดิบต่าง ๆ ภายในร้าน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูร้านมีราคาที่สูงมาก เช่น ค่าทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบ พื้นที่ภายใน การซ่อมแซมอุปกรณ์ หรือบางรายต้องซื้อใหม่เพราะค่าซ่อมสูงจนไม่คุ้มที่จะซ่อม ซึ่งบางร้านสามารถฟื้นฟูได้บางส่วน บางร้านยังฟื้นฟูไม่ได้ และบางร้านอาจจะเลิกกิจกรรม

“จึงเกิดการพูดคุยกับคุณภาคภูมิ เบญญากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอนนาโพลิส จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัตถุดิบเครื่องดื่มครบวงจร ภายใต้แบรนด์ ลองบีช (LongBeach) และชาญี่ปุ่นคาวามิ (Kawami) ภายใต้แนวคิด “ลดรายจ่าย ให้เค้ากลับมาทำอาชีพเดิม” โดยคุณภาคภูมิตอบรับให้การสนับสนุนวัตถุดิบที่ใช้ในร้านคาเฟ่ เพื่อให้ผู้ประกอบการกลับมาตั้งหลักใหม่ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของเข้าร้านบางส่วน และให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ ถึงแม้ว่ายังไม่สมบูรณ์ 100% แต่ร้านสามารถเอารายได้มาช่วยดูแลครอบครัว มาดูแลลูกจ้างในร้านให้มีงานทำต่อไปได้” หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง กล่าว

การวางแผนดำเนินงานเริ่มเป็นรูปเป็นร่างด้วยความช่วยเหลือกจากคุณพงศกร อารีศิริไพศาล ประธาน Chiang Rai Coffee Lover (CCL) ที่ให้ความอนุเคราะห์ประสานงานร้านนำร่องจำนวน 25 ร้านในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สาย และบริษัท แอนนาโพลิส จำกัด จัดทีมงานพร้อมวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับร้านคาเฟ่มาเต็มคันรถ เดินทางมาจากบริษัทแม่จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกิจกรรม “ฟื้นอาชีพ” ระหว่างวันที่ 15 - 16 ตุลาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย

โดยในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 อาจารย์วิทยาศักดิ์ รุจิวรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้การต้อนรับและขอบคุณคณะจากบริษัท แอนนาโพลิส จำกัด ณ ห้องรับรอง อาคารวันชัย ศิริชนะ (AD1) จากนั้นคณะได้เดินทางไปยังร้าน1. หมวกฟางคาเฟ่ 2. Nanaba Cafe 3. บันดาลใจ Coffee Eatery Bingsu 4. DaMd Cafe 5. Iron Kof 6. On the way 7. One Tea At A Time ปิดท้ายวันด้วยร้านที่ 8. TRIPLE C campsite & Cafe

เช้าวันที่ 16 ตุลาคม 2567 คณะออกเดินทางไปยังร้านที่ 1. Chic Cafe 2. Fulfil 3. Little L Home Cafe & Playground 4. The Wanderer 5. Melt in Your Mouth 6. House Coffee 7. Chivit Thamma Da Coffee House จากนั้นคณะเดินทางต่อไปยังอำเภอแม่สายเพื่อพบกับผู้ประกอบการร้านคาเฟ่จำนวน 10 ร้าน ที่เรานัดพบกัน ณ สังคมนิยมกาแฟ เพื่อพูดคุยและส่งมอบกำลังใจ ได้แก่ 1. สังคมนิยมกาแฟ 2. อรสา คาเฟ่ 3. 9 Coffee 4. GYO Coffee 5. ใช้ชีวิตคาเฟ่ 6. iX presso 7. เป็นตาฮัก คาเฟ่
8. Phingpha cafe (ท่าขี้เหล็ก) 9. มาริสา โฮม คาเฟ่ และ 10. cre8tive cups

ทั้งนี้ทุกร้านพยายามทำความสะอาดร้านให้พร้อมต้อนรับลูกค้าอย่างเต็มที่ บางร้านเปิดได้เพียงรูปแบบออนไลน์ บางร้านยังขาดเมนูอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภท เนื่องจากอุปกรณ์ยังอยู่ในระหว่างรอซ่อม วันที่คณะเดินทางไปถึงเราได้พบเห็นร่องรอยของน้ำท่วมที่ทิ้งเอาไว้ แม้ว่าแต่ละร้านจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะขจัดคราบน้ำนั้นออกไป

สำหรับทุกร้านที่คณะได้เข้ามอบวิตถุดิบตั้งต้นสำหรับร้านคาเฟ่ภายใต้แบรนด์ ลองบีช (LongBeach) แล้วยังได้มีการพูดคุยสอบถามถึงสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ และที่สำคัญคือ “ลูกค้า”  ที่จะซับพอร์ตให้สามารถเปิดกิจการได้ใหม่ 

“อยากเชิญชวนส่งต่อกำลังใจให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ มาช่วยกันอุดหนุนร้านคาเฟ่ต่าง ๆ ด้วยการ “ฟื้นอาชีพ-ฟื้นรายได้-ฟื้นเศรษฐกิจ” ให้ชาวเชียงราย แต่ละแก้ว แต่ละเมนูที่ท่านอุดหนุนมันคือกำลังใจที่จะส่งต่อให้เค้าสู้ต่อไป”  มาเที่ยวเชียงราย มาช่วยฟื้นฟู มาสู้วิกฤตนี้ด้วยกัน หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง กล่าว

ชมประมวลภาพได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?vanity=MFU2Connect&set=a.122135956508348486 

  • 241 ครั้ง
  • #สถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง