เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
ในโอกาสครบรอบ 26 ปีแห่งการสถาปนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ปัจจุบันมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ (อธิการบดีผู้ก่อตั้ง) ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร เป็นอธิการบดี ยืนยันความมุ่งมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียนที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน
.
ย้อนกลับไปเมื่อ 26 ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ถือกำเนิดขึ้นจากความปรารถนาอันแรงกล้าของชาวเชียงราย ที่ต้องการให้มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของภูมิภาคนี้
.
มหาวิทยาลัยได้เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ด้วยนักศึกษาเพียง 62 คน และ 2 สำนักวิชา แต่ด้วยปณิธานอันแน่วแน่และความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วน วันนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีนักศึกษากว่า 15,000 คน จาก 15 สำนักวิชา 73 หลักสูตร ครอบคลุมสาขาวิชาที่หลากหลายและทันสมัย ทั้งยังมีนักศึกษาต่างชาติกว่า 1,000 คน เดินทางมาจากทั่วโลก
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี เปิดเผยว่า มฟล.ครบรอบ 26 ปี ได้ปฏิบัติภารกิจอุดมศึกษาครบถ้วนทุกด้าน ทั้งการผลิตบัณฑิต การวิจัย การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การบริการวิชาการ และการบริการสุขภาพ
.
ตลอด 26 ปีที่ผ่านมา ได้ยึดมั่นในหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ การสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี "ปลูกป่า สร้างคน" การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งโอกาสสำหรับทุกคน การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิด "New Different Better" การรักษาจุดแข็งด้านการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนในการเรียนการสอน
.
หลักการเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นสถาบันที่มีเอกลักษณ์ มีความเป็นนานาชาติ และมีความพร้อมในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่สังคม
.
ด้านการผลิตบัณฑิต มฟล. มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะแห่งอนาคต พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเน้นการสร้าง "Global Citizenship" ที่มีความเก่ง ความรู้ คู่ความดี และมีความสุข เน้นการสร้าง "Growth mindset" และ "Life-long learners" เพื่อให้บัณฑิตสามารถปรับตัวและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 41,438 คน ซึ่งกำลังรับใช้สังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
.
ด้านการวิจัย ยึดหลัก "Research for All" มุ่งสร้างงานวิจัยที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยบูรณาการทุนวิชาการกับทุนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติและได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ อาทิ รางวัล Silver Award จากงาน Thailand Research Expo 2024 จากงานวิจัย 'พลิกฟื้นทุนวัฒนธรรมเชียงรายสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO' และรางวัล PM's Digital Award 2023 จากระบบจัดการขยะอันตรายชุมชน
.
ทั้งยังเน้นงานวิจัยที่ตอบโจทย์พื้นที่ เช่น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน พร้อมผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ผ่านโรงงานต้นแบบและศูนย์นวัตกรรม อาทิ โรงงานต้นแบบเครื่องสำอาง โรงงานผลิตยาสมุนไพร และศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
.
มฟล. ยังเน้นการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านการให้บริการของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบด้วย 18 ศูนย์และคลินิกเฉพาะทาง มีผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์รวม 482,678 ราย รวม 1,025,132 ครั้ง นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2561
.
รวมถึงโครงการบริการสุขภาพต่างๆ เช่น โครงการแพทย์อาสาบรมราชชนนี โครงการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ และโครงการทันตกรรมบรมราชชนนี ทั้งนี้ระหว่างปี 2553 ถึง 2566 มีการดำเนินงานที่สำคัญสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส รวม 78 โครงการ ส่งผลให้มีผู้ได้รับประโยชน์ถึง 147,169 ราย รวมถึงการร่วมขับเคลื่อน "CHIANGRAI WELLNESS CITY"
.
ทั้งยังมีโครงการ "72 พรรษา 7200 สุขภาพดี" ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เน้นการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก โรคแทรกซ้อนจากโรค NCDs
.
สำหรับด้านการพัฒนากายภาพ มฟล. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดสร้างอาคารสำคัญหลายแห่ง เช่น อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ อาคารกิจกรรมนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ทางเดินปลอดภัยริมน้ำ
.
นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤตโลกร้อนที่ทวีความรุนแรง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตระหนักถึงบทบาทสำคัญของสถาบันการศึกษาในการแก้ไขปัญหานี้ จึงขอประกาศแผนขับเคลื่อนสู่การเป็น Net Zero Campus ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2567-2569) เพื่อร่วมแก้ไขวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สอดคล้องกับกระแสโลกที่สถาบันการศึกษาทั่วโลกกว่า 1,200 แห่งกำลังมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
.
อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า แผนนี้ประกอบด้วย 29 โครงการ ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การจัดการของเสียและน้ำเสียอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาคมมหาวิทยาลัย
.
โครงการสำคัญภายใต้แผนนี้ ได้แก่ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารเรียน การปรับปรุงระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพสูง การส่งเสริมการใช้จักรยานภายในมหาวิทยาลัย และการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับนักศึกษาและชุมชน
.
"มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมุ่งมั่นที่จะเป็น 'The University for Well-being and Sustainable Future' เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืนของทุกคน นอกจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรายังมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบูรณาการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความเข้าใจและพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต" อธิการบดีกล่าวทิ้งท้าย
.
การก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จึงไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนาด้านวิชาการและการวิจัยเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาระดับโลก และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน