เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดอบรมนานาชาติ "Bridging the gap in cross border health populations" เสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพข้ามพรมแดน

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จัดการอบรมนานาชาติประจำปี 2568 ในหัวข้อ "Bridging the gap in cross border health populations" ระหว่างวันที่ 13-31 สิงหาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย การอบรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของไทย (TICA) สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มฟล. โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 สิงหาคม 2567 เวลา 08.00-10.00 น. ที่ห้องประชุมพู่ระหง อาคาร M-Square
.
รศ.ดร.ดรุณี วัฒนสิริเวช รองอธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผศ.ดร.วิภพ สุทธนะ ผู้ช่วยอธิการบดี รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวรายงาน และ ดร.พิษณุรักษ์ กันทวี อาจารย์ประจำหลักสูตร ได้แนะนำผู้เข้ารับการอบรมและทีมวิทยากร มีผู้เข้าอบรมจากนานาชาติ อาทิ เมียนมา กัมพูชา ลาว ภูฏาน ศรีลังกา 
.
รศ.ดร.ดรุณี วัฒนสิริเวช กล่าวในพิธีเปิดว่า "ขอต้อนรับทุกท่านสู่หลักสูตรการฝึกอบรม 'Bridging the gap in cross border health populations' ณ มฟล. ขอขอบคุณวิทยากร ผู้สนับสนุน และผู้เข้าร่วมทุกท่านที่ทำให้โปรแกรมนี้เกิดขึ้นได้ หลักสูตรนี้เป็นโอกาสพิเศษในการพบปะผู้เชี่ยวชาญ แบ่งปันประสบการณ์ และเรียนรู้เกี่ยวกับโลกของสาธารณสุข ขอเชิญทุกท่านใช้โปรแกรมนี้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างเครือข่ายในระดับมืออาชีพ"
.
ด้าน ผศ.ดร.วิภพ สุทธนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "หลักสูตรอบรมนี้มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพข้ามพรมแดน ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการดูแลสุขภาพ วิเคราะห์วิธีการสนับสนุนกลุ่มคนหลากหลาย และนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาประเทศของตน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลล่าสุดกับผู้เชี่ยวชาญและสร้างเครือข่ายอันมีค่าในวงการสาธารณสุข"
.
การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสุขภาพชายแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรมนานาชาติประจำปี (AITC) พ.ศ. 2568 นับเป็นก้าวสำคัญของ มฟล. ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพข้ามพรมแดน ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคต่อไป

  • 125 ครั้ง
  • #สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ