เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยศูนย์บริการวิชาการ จัดกิจกรรมรายงานตัวและขึ้นทะเบียนผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม รุ่นที่ 4 พ.ศ. 2567 จำนวน 19 รูป/คน ณ ห้อง E4A-518 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี โดยมี ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี กล่าวแสดงความยินดีและมอบเข็มที่ระลึกของหลักสูตรแก่ผู้เรียนทุกคน พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ รศ. ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง และคณาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง อาจารย์วาทิตย์ เสมบุตร และอาจารย์วัชระ กว้างไชย์ ร่วมต้อนรับผู้เข้าเรียนรุ่นล่าสุด
นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำข้อมูลด้านต่าง ๆ ของหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นมา การประเมินผล สัญญาการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมหน่วยงานและสถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย สถานที่เรียนหลักที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง ห้องจัดนิทรรศการ และอาคารจัดแสดงผลงานศิลปะ ณ ปฐมาคารนุสรณ์ ๒๕๔๒ และร่วมสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง กับผู้เรียนทุกท่านที่ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รุ่นที่ 4 พ.ศ. 2567 โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิ์รายงานตัวเข้าศึกษาในวันนี้ ทั้งสิ้น 19 รูป/คน
“ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับอาจารย์ประจำหลักสูตรได้ดำเนินการทวนสอบรายวิชาและปรับปรุงเนื้อหาการสอนใหม่ขึ้น ตามข้อเสนอแนะของ ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร ให้มีความทันสมัย เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการหลักสูตรให้ยั่งยืนตลอดไป โดยยังยึดเจตนารมณ์เดิมของการจัดตั้งหลักสูตร คือ เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและให้บริการวิชาการตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนพุทธศิลปกรรม เพื่ออนุรักษ์พุทธศิลปกรรมให้คงอยู่ตลอดไปและเพื่อหยุดยั้งการทำลายพุทธศิลปกรรมด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ฎ
“หลักสูตรพุทธศิลป์สร้างสรรค์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2567) มุ่งเน้นสร้างสรรค์ศิลปินผู้ที่ต้องการต่อยอดพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ด้านพุทธศิลปกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ โดยเน้นภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ได้ฝึกทดลองการแสดงออกทางสุนทรียภาพให้สอดคล้องกับแนวความคิด และกระบวนการขั้นตอนการสร้างสรรค์งานด้านพุทธศิลปกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ให้เกิดเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน ตลอดจนได้เผยแพร่ผลงานพุทธศิลปกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการศิลปะ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ”
“หลักสูตรระยะสั้นดังกล่าว ดำเนินการในลักษณะการบูรณการพันธกิจของมหาวิทยาลัยด้านการให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน เป็นการดำเนินการในลักษณะโครงการบริการวิชาการที่ไม่มีรายได้ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธา และรายได้จากการจำหน่ายผลงานสร้างสรรค์ของผู้เรียน อาจารย์ประจำหลักสูตร และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงสนับสนุนด้านอาคารสถานที่ อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ บุคลากร และการดำเนินการทั้งหมด ผ่านการดำเนินงานของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงง”
“ผู้ที่สาเร็จการศึกษาตามแผนการเรียนการสอน จะได้รับใบประกาศนียบัตรการสำเร็จการศึกษาที่รับรองโดย พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (ศิลปินแห่งชาติ) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งและนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งถือว่าเป็นหลักสูตรระดับ Master Class อย่างแท้จริง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เรียนทุกท่านจะมีความสุขกับการศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีในการพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนางาน ด้านพุทธศิลป์ในวงกว้าง และก่อให้เกิดประโยชน์โสตถิผล ในสังคมไทยและสังคมโลก ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป”
.
ชมภาพเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=MFUTODAY&set=a.818197027107295