เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าร่วมการประชุม Global Sustainable Development Congress ประจำปี 2567 (GSDC 2024) ซึ่งเป็นการผนึกกำลังในการจัดงานระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Times Higher Education (THE) การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพรพรรณ อุตมา รองอธิการบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิวัลย์ สีทา ผู้ช่วยอธิการบดี และ นางสาวฑิตยา ฌาณวัฒนศิริ เจ้าหน้าที่บริหาร ส่วนนโยบายและแผน เข้าร่วมการประชุม GSDC 2024 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คนจาก 90 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาแนวทางในการแก้ไขวิกฤตด้านความยั่งยืนระดับโลกอย่างเร่งด่วนผ่านการส่งเสริมความร่วมมือและนวัตกรรม
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานประชุม GSDC 2024 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” โดยกล่าวว่า ประเทศไทยและรัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายภายในต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยการศึกษาจะมีส่วนสำคัญในการเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยมที่จำเป็นต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนในประเทศพึงได้รับ อันจะนำไปสู่การเข้าถึงทรัพยากร และปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี และเกิดการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ปฏิญญาได้เสนอให้มีการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อ “การลงทุนสำหรับอนาคต” ซึ่งเชื่อมโยงการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไว้ด้วยกัน และยังหมายรวมถึง “การรวมประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญไว้ในการเรียน การสอน การเสริมสร้างพลังประชาชนในทุกช่วงอายุ เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ได้มีการนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายของประเทศ คือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักการสำคัญในความพยายามเพื่อการพัฒนาความยั่งยืนของประเทศไทย พร้อมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถกำหนดอนาคตของประเทศ ผ่านการมีส่วนร่วมของประชากรไทย และองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความมุ่งมั่นร่วมกัน
โดยภายในงานได้มีการเผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) หรือ THE Impact Rankings ของปี 2024 ซึ่งเป็นการจัดอันดับที่ประเมินมหาวิทยาลัยโดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับ THE Impact Rankings 2024 อยู่ในช่วงอันดับ 401-600 ของโลก จากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 2,031 แห่ง จาก 125 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลกที่เข้าร่วมการจัดอันดับนี้ และเป็นอันดับที่ 11 ร่วมของไทย จาก 77 มหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่เข้าร่วมการจัดอันดับ