สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. จัดโครงการค่ายเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยเครื่องมือทางมานุษยวิทยา ณ วัดนัดบุญคามิลโล 101

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. จัดโครงการค่ายเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยเครื่องมือทางมานุษยวิทยา ณ วัดนัดบุญคามิลโล 101

    ระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม จัดโครงการค่ายเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยเครื่องมือทางมานุษยวิทยา ณ วัดนัดบุญคามิลโล 101 ให้แก่เยาวชนอายุ 10-18 ปีที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านศรีวิเชียร หมู่ 8 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมี อาจารย์ ดร.จารุวรรณ หัตถผสุ เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์โครงการ คือ เพื่ออบรมให้ความรู้เยาวชนในการใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เป็นผู้สามารถศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้การใช้เครื่องมือมานุษยวิทยาไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกในชุมชนได้ (training the trainer) และสามารถถอดบทเรียนเพื่อทำเป็นชุมชนต้นแบบในการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนจากเบื้องล่าง (History from below)   

   โดยกิจกรรมในวันแรก เริ่มจากกิจกรรมการบรรยายหัวข้อ "การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยเครื่องมือทางมานุษยวิทยา 7 ชิ้น" โดยวิทยากร ดร.จารุวรรณ หัตถผสุ อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคมและกรรมการบริหารศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่, การบรรยายหัวข้อ "การผลิตชิ้นงานจากองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" โดยวิทยากร ทิฆัมพร สิงโตมาศ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่, กิจกรรมเล่นและเรียนรู้การใช้เครื่องมือมานุษยวิทยา 7 ชิ้น โดยแบ่งกลุ่มย่อย แจกโจทย์ และลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยเครื่องมือทางมานุษยวิทยา 7 ชิ้น  พร้อมทั้งออกแบบชิ้นงานแบบง่ายๆ โดยวิทยากร ดร.จารุวรรณ หัตถุผสุ และ ทิฆัมพร สิงโตมาศ มีผู้ช่วยวิทยากรเป็นนักศึกษาสำนักวิชานวัตกรรมจำนวน 5 คน จากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปบทเรียนในวันแรก

    กิจกรรมวันที่ 2 เริ่มจากการนำเสนอแนวคิดการออกแบบชิ้นงานจากองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำกระบวนการโดย ดร.จารุวรรณ หัตถุผสุ และ ทิฆัมพร สิงโตมาศ ผู้ช่วยดำเนินกระบวนการ นักศึกษาสำนักวิชานวัตกรรมจำนวน 5 คน จากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนจากกิจกรรมทั้งหมด ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้ ประกอบด้วย 1. แผนที่เดินดิน 2. ผังเครือญาติ. โครงสร้างองค์กรชุมชน 4. ระบบสุขภาพชุมชน 5. ปฏิทินชุมชน 6. ประวัติศาสตร์ชุมชน 7. ประวัติชีวิต หลังจากนั้นเป็นการมอบประกาศนียบัตรแก่เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ถือเป็นการปิดโครงการอย่างเป็นทางการ

     อาจารย์ ดร.จารุวรรณ หัตถผสุ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญและเชื่อมโยงของโครงการกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565-2569) โดยโครงการมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา คือ

    1. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายที่ 4 Quality Education ชุมชนศรีวิเชียร เป็นชุมชนเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมค่ายเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยเครื่องมือทางมานุษยวิทยา ชุมชนศรีวิเชียรตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ต. ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย โดยชุมชนนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยุ่ร่วมกันถึง 7 ชาติพันธุ์ได้แก่ อ่าข่า ไทใหญ่ ม้ง ปกาเกอะญอ  ลาหู ไทลื้อ และคนเมือง ซึ่งได้อพยพเข้ามาในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านทั้งจากประเทศลาว จากเชียงตุง ประเทศจีน และจากประเทศพม่า ปัจจุบันทางชุมชนมีความประสงค์อยากจะให้เยาวชนในชุมชนเรียนรู้ทั้งประวัติความเป็นมาและรากเหง้าของตนเอง ทั้งมิติชาติพันธุ์ การย้ายถิ่น การดำรงชีพ และศิลปวัฒนธรรม แต่ทางชุมชนไม่เคยมีประสบการณ์การอบรมทักษะ เทคนิค หรือเครื่องมือในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

     ดังนั้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเกิดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเยาวชนในชุมชน โดยสอนเทคนิคและวิธีการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้นทางมานุษยวิทยาเพื่อทำความเข้าใจชุมชนของตนเอง เครื่องมือนี้จะช่วยให้เยาวชนค้นหาศักยภาพได้เรียนรู้จากชีวิตผู้คนและได้เห็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายที่ 4 Quality Education โดยกิจกรรมนี้เป็นการอบรมให้กับเยาวชนในท้องถิ่นเพื่อใช้เครื่องมือทางมนุษวิทยา เพื่อเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง

     2. โครงการอบรมเชิงปฎิบัติการนี้มุ่งสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม อีกทั้งสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้เทคนิคและพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อสร้างชุดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมุมมองของเยาวชน นอกจากนี้ ยังจะได้ทำความรู้จักชุมชนตนเองผ่านเครื่องมือต่างๆ ทางมานุษยวิทยา และเมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในชุมชนจากปัจจัยรอบด้านที่จะโยงไปสู่การเข้าใจภาพใหญ่ของโครงสร้างนโยบาย ซึ่งความเข้าใจนั่นจะนำมาสู่การสร้างความปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืนในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 11 Sustainable Cities and Communities                                                                

     “ชุมชนศรีวิเชียรเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องของชาติพันธุ์และการอพยพเข้ามาในพื้นที่ ประกอบกับปัญหาในเชิงพื้นที่ปัจจุบันทั้งในด้านสังคมชุมชนได้กลายเป็นแหล่งที่ขยะของตำบลท่าสุด อีกทั้งยังมีชาวบ้านในชุมชนที่ประสบปัญหาเรื่องการถือครองสัญชาติ เป็นต้น จึงทำให้ไม่มีประวัติศตร์ชุมชนที่แน่ชัดหรือมีการเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ทางชุมชนจึงมีความประสงค์อยากจะเก็บรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาตร์ของชุมชนเพื่อศึกษาและรู้จักชุมชนอย่างมีพลวัต (Dynamic) และประสงค์ที่จะให้เยาวชนในชุมชนมีความรู้ เทคนิค และวิธีการในการเรียนรู้ เพื่อผลักดันเยาวชนในชุนชนให้มีส่วนร่วมในการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนภายในชุมชน”

    “ดังนั้นจึงเกิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการค่ายเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยเครื่องทางมนุษยาวิทยา โดยเครื่องมือนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพและทักษะของเยาวชนในการทำความเข้าใจชุมชนท้องถิ่น เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมเพื่อเรียนรู้เทคนิคและวิธีการในการศึกษาประวิติศาตร์ชุมชนอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย แผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ โครงสร้างองค์กรชุมชน ระบบสุขภาพชุมชน (ทุนและความท้าทาย) ปฏิทินชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน และประวัติชีวิต อีกทั้งเยาวชนผู้เข้าร่วมสามารถถ่ายทอดความรู้ประวิศาสตร์ท้องถิ่นให้แก่คนในชุมชนซึ่งสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนภายในชุมชนโดยคนในชุมชนเอง อีกทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ประวัติศาตร์จากเบื้องล่าง (History from below)”

    “เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมยังสามารถนำความรู้ เทคนิคที่ได้ไปถ่ายถอดให้กับเยาวชนคนอื่นๆหรือชาวบ้านในชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสภาพท้องถิ่นของตน ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ รวมถึงการเห็นคุณค่าในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเห็นคุณค่าเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอม และบ่มเพาะไปสู่การลงมือกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถสร้างชุมชนนี้ให้เป็นชุมชนต้นแบบในการสร้างสร้างองค์ความรู้ประวัติศาตร์จากเบื้องล่างอย่างยั่งยืน และสามารถนำไปเผยแพร่กับชุมชนอื่นได้ โดยโครงการนี้จึงมีความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับที่ 5 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเป็นที่พึ่งแก่สังคม ในประเด็นยุทธศาสตร์ 3.2 การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ในประเด็นยุทธศาสตร์ 4.2 การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน” อาจารย์ ดร.จารุวรรณ หัตถผสุ หัวหน้าโครงการ กล่าว

 

  • 120 ครั้ง
  • #สำนักวิชานวัตกรรมสังคม