พิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รุ่นที่ 2 พ.ศ. 2565

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

     เมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รุ่นที่ 2 พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมเชียงแสน อาคารวันชัย ศิริชนะ สำนักงานอธิการบดี (AD) โดยได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลางและกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรและกล่าวสัมโมทนียกถา พร้อมด้วย พระพุทธิญาณมุนี (เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีผู้ก่อตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย

   นอกจากนี้ยังมี อาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ เชียงราย อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง และคณาจารย์ย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง อาจารย์วาทิตย์ เสมบุตร อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น อาจารย์วัชระ กว้างไชย์ และอาจารย์กาญจนา ชลศิริ พร้อมทั้งผู้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม รุ่นที่ 2 จำนวน 30 คน/รูป (จากทั้งหมด 35 รูป/คน) เข้าร่วมพิธีมอบประกาศนียบัตร จากนั้นแขกผู้มีเกียรติร่วมชมนิทรรศการผลงานศิลปกรรมสร้างสรรค์ของผู้สำเร็จหลักสูตร

     หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก่อตั้งภายใต้แนวความคิดของ ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พระเมธีวชิโรดม (พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับศิลปินเชียงราย ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้จัดตั้งหลักสูตรขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านพุทธศิลป์ให้แก่พระสงฆ์และประชาชนผู้สนใจ เข้าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุนทรียศาสตร์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และนำองค์ความรู้ด้านพุทธศิลปกรรมไปปรับใช้ในการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ สร้างสรรค์ และเผยแพร่ผลงานพุทธศิลปกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งหยุดยั้งไม่ให้เกิดการทำลายพุทธศิลปกรรมดั้งเดิมที่ดีงาม จัดการเรียนการสอนใน 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 พุทธศิลป์ขั้นพื้นฐาน (แผน ก. และแผน ข.) ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ และระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ขั้นสูง

.

คลิก ชมภาพเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/media/set/?vanity=MFUTODAY&set=a.771644065095925

........

    สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลางและกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรและกล่าวสัมโมทนียกถา ความว่า

    “ขอแสดงความชื่นชมอนุโมทนามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ได้ริเริ่มจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม ซึ่ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นนีนับเป็นรุ่นที่สอง และขอชื่นชมในความสําเร็จของผู้ได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยองค์ความรู้ด้านศิลปะ และเข้าถึงสุนทรียะของงานพุทธศิลป์ได้อย่างลึกซึ้ง อันเป็นผลมาจากความมู่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จึงสามารถฝ่าฟันจนสําเร็จการศึกษา และได้รับเกียรติครั้งสําคัญในชีวิต”

    “ขอชื่นชมยินดีกับผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งและนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พระเมธีวชิโรดม ผู้อํานวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่ได้เป็นผู้ริเริ่มและร่วมกันดําเนินการมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งขออนุโมทนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชณิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คณาจารย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ได้จัดการเรียนการสอน ให้การสนับสนุน และร่วมขับเคลื่อนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพทธศิลปกรรมมาอย่างต่อเนือง และไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยจนมีผลผลิตที่น่าภาคภูมิใจในวันนี้”

   “ผู้สำเร็จการศึกษาทุกท่าน การสั่งสมองค์ความรู้และการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ ถือเป็น Soft power ที่ทรงคุณค่าของทั้งอาณาจักรและศาสนจักร เพราะไม่เพียงแต่สะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนภาพของความเป็นอารยะออกไปสู่สายตาของผู้ที่ได้มีโอกาสสัมผัสสุนทรียะของงานพุทธศิลป์ ผ่านการรังสรรค์ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเข้าใจรากฐานของพุทธศิลปกรรม ซึ่งมีความงดงามและอุดมด้วยคุณค่าในทางศิลปะ และสามารถตอบโจทย์ ‘พุทธศิลป์ คือ งานศิลปะที่เข้ากับทุกยุคสมัย’ ซึ่งแฝงอยู่ทั้งในวิถีไทยและวิถีโลกได้อย่างแท้จริง จึงควรที่จะม่งมั่นรังสรรค์ผลงานด้านพุทธศิลป์ให้มีความต่อเนื่อง ภายใต้ "ภูมิรู้ และภูมิธรรม" ที่ทุกท่านได้สั่งสม อบรมมา”

    “อาตมภาพมีความเชื่อมั่นว่า การที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงสามารถผลิตผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมได้ถึงสองรุ่น ถือเป็นก้าวสําคัญที่จะนําไปสู่การพัฒนาผู้เรียนในหลักสูตรรุ่นต่อ ๆ ไป และจุดประกายการสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจใฝ่รู้ให้แก่ผู้เข้ามาศึกษา เพื่อนําไปสู่การสร้างสรรค์ พัฒนาและสืบสานงานด้านพุทธศิลป์ให้เกิดประโยชน์โสตถิผล ในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างยั่งยืนตลอดไป”

.

     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวแสดงความยินดีในนามผู้ริเริ่มก่อตั้งหลักสูตร

    “ในนามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าลัยแม่ฟ้าหลวง ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับผู้ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาด้วยความมุมานะพยายามมาตลอดระยะเวลาตามหลักสูตร จนมีความสำเร็จและผ่านมาถึงวันนี้ได้ ก็อยากจะขอเรียนว่าความสำเร็จของการจัดโครงการการเรียนการสอนพุทธศิลป์นั้น เกิดขึ้นจากผู้มีพระคุณที่ได้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จากหลายหมู่หลายคนหลายกลุ่มหลายเหล่า ที่มีเจตนาที่จะสืบสานต่อยอดทำนุบำรุงงานพุทธศิลปกรรมของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า และพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง”

   “ความคิดที่เริ่มตรงนั้นคงจะไปไม่ถึงไหน ถ้าไม่รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่กรุณาให้การสนับสนุนส่งเสริม ทั้งทางด้านกำลังใจและกำลังทรัพย์ และบารมีที่ได้แผ่ไปยังวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศให้ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญของหลักสูตร ขอกราบขอบพระคุณด้วยความเคารพ ด้วยความซาบซึ้งในเมตตาจากอย่างสูงมา ณ ที่นี้”

      “อยากเรียนให้ท่านผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเราทั้งหลายนั้น มาจากหลายกลุ่มหลายหมู่หลายเหล่า ก็คิดว่าคงจะได้ใช้ความรู้ที่ได้จากครูบาอาจารย์ของเรา ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงรายหลายท่าน ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย ท่านอาจารย์นคร ท่านอาจารย์สุวิทย์ ท่านอาจารย์ทรงเดช และพระอาจารย์อีกหลายท่านที่ได้เข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งอาจจะเอ่ยนามได้ไม่หมด เป็นเบื้องหลังของความสำเร็จของโครงการนี้ ก็คือความตั้งใจของผู้ซึ่งที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้ดำเนินต่อเนื่องมา”

    “อีกประการหนึ่งที่อยากจะเรียนเพิ่มเติม ก็คือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมโครงการนี้มาตั้งแต่แรก และคาดว่าท่านอธิการบดีท่านปัจจุบันก็จะให้การสนับสนุนส่งเสริมเรื่องของงานพุทธศิลปกรรมต่อไปอย่างต่อเนื่อ งโดยได้รับการสนับสนุนจากท่านศิลปินอาวุโส ศิลปินจังหวัดเชียงรายทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และก็ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และพระปรมาณีของสมเด็จย่า ได้เมตตาปกปักรักษาทุกท่านขอให้มีความสุขความเจริญโดยทั่วกัน และขอบพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จฯ อีกครั้งหนึ่ง ที่ได้กรุณาเมตตามาโดยตลอดทุกครั้งตั้งแต่แรกเริ่ม มาเสวนากันครั้งแรกที่หน้าวิหารพระเจ้าล้านทองฯ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ หลายปีผ่านมา ก็ได้มีความต่อเนื่องท่านได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดก็กราบขอบพระคุณ” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ กล่าว

.

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม เกิดจากความคิดริเริ่มของผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) ผู้อํานวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปีพุทธศักราช 2554 และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้ก่อตั้งและนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มีแนวคิดร่วมกันในการจัดให้มีหลักสูตรระยะสั้น เพื่อส่งเสริมผู้ที่มีความสนใจศึกษาด้านพุทธศิลปกรรม เน้นสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุนทรียศาสตร์ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติแบบเข้มข้น นําหลักการมาปรับใช้ในด้านการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานพุทธศิลปกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการอนุรักษ์พุทธ-ศิลปกรรมให้คงอยู่ตลอดไป และหยุดยั้งการทําลายพุทธศิลปกรรมด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

      โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ พระภิกษุ สามเณร และผู้ที่สนใจทั่วไป โดยไม่จํากัดอายุ และระดับการศึกษา เปิดรับผู้เรียนรุ่นที่ 2 พุทธศักราช 2565 จํานวน 50 รูป/คน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 พุทธศิลป์พื้นฐาน แผน ก. ทฤษฎีศิลปะ จํานวน 15 รูป/คน และทฤษฎีและปฏิบัติศิลปะ จํานวน 15 รูป/คน เรียนแบบ Hybrid ผ่านระบบออนไลน์ แผน ข. และเรียน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ จํานวน 15 รูป/คน และระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ชั้นสูง จํานวน 5 รูป/คน เรียน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

    “หลักสูตรดังกล่าวได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และกรรมการมหาเถระสมาคม เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารหลักสุตร รวมถึงคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินเชียงรายที่มีชื่อเสียง ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรประจําหลักสูตร”

     “หลักสูตรระยะสั้นดังกล่าว ดําเนินการในลักษณะการบูรณการพันธกิจของมหาวิทยาลัย ในด้านการให้บริการวิชาการแก่สังคมและการทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน เป็นการดําเนินการในลักษณะโครงการบริการวิชาการที่ไม่มีรายได้ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาและรายได้จากการจําหน่ายผลงานสร้างสรรค์ของผู้เรียน อาจารย์ประจําหลักสูตร และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงสนับสนุนด้านอาคารสถานที่ อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ บุคลากร และการดําเนินการทั้งหมด ผ่านการดําเนินงานของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง”

    “ในปีที่ผ่านมา ผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รุ่นที่ 2 พุทธศักราช 2565 ได้เข้าร่วมการประกวดและได้รับรางวัลการประกวดผลงานสร้างสรรค์ในระดับชาติหลายรูป/คน รวมถึงเป็นผู้จัดนิทรรศการพุทธศิลปกรรมเพื่อแสดงผลงานสร้างสรรค์ของผู้เรียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในหลักสูตร ณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม ระหว่างวันที่ 9-30 กันยายน พุทธศักราช 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่เข้าชม และสามารถจําหน่ายผลงานสร้างสรรค์ได้เป็นจํานวนมาก แสดงให้เห็นถึงผลผลิตอันทรงคุณค่าที่เกิดขึ้น จากทั้งตัวผู้เรียนและผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและปณิธานของผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตรโดยประจักษ์ชัด”     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร กล่าว

        ในการนี้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ได้ให้ความเมตตาบริจาคสมทบ กองทุนพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินการของหลักสูตร และทางคณะผู้เรียนรุ่นที่ 2 ได้ถวายเงินบริจาคแก่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งได้มอบให้แก่มหาวิทยาลยัแม่ฟ้าหลวง โดยอธิการบดีเป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรเช่นเดียวกัน

  • 213 ครั้ง
  • #อธิการบดีผู้ก่อตั้ง #อธิการบดี #หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม (BUDDHIST ART MFU) #ศูนย์บริการวิชาการ