เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
สำนักงานจัดการทรัพย์สินและรายได้ ได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการในการให้บริการของผู้ประกอบการภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงานได้ดำเนินการตักเตือนและสื่อสารกับผู้ประกอบการแล้ว และได้ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมจำนวน 4 กิจกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 กิจกรรมมอบป้ายตรวจสอบคุณภาพอาหารและเครื่องดื่ม MFU Food Safety ประจำปี 2566-2567 จำนวน 87 ร้าน ที่ผ่านการตรวจสอบการปนเปื้อนทางเคมีและชีวภาพ จากโครงการตรวจสอบคุณภาพอาหาร ประจำปี 2566 ครั้งที่ 1 และ 2 จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กิจกรรมดังกล่าวได้รับเกียรติจากอาจารย์ศรุตนันท์ โสภณิก ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นประธานในพิธี และมอบป้ายอาหารปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิวัฒน์ แก้วดวงเล็ก และนางสาวปราณีย์ ขัติยะ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สินและรายได้ ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อให้ชาว มฟล. เกิดความมั่นใจในคุณภาพ และได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ถูกสุขาภิบาลแล้วสำนักงานจัดการทรัพย์สินและรายได้ฯ ยังได้เพิ่มช่องทางการชำระเงิน ด้วย Application True Money Wallet เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้จ่าย ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยได้มอบป้าย QR Code ของ True Money ให้กับผู้ประกอบการในกิจกรรมครั้งนี้อีกด้วย
2. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 กิจกรรมอบรมมาตรฐานการให้บริการ MFU SERVICE MIND ให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ภายในมหาวิทยาลัย ณ ห้อง 323 อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
3. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 กิจกรรมอบรมสุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (หลักสูตรผู้สัมผัสอาหาร) ประจำปี 2567 การอบรมในครั้งนี้ได้รับเชิญวิทยากรพิเศษ จากสำนักงานเทศบาลตำบลท่าสุด พันจ่าเอกอัฐพงษ์ อำไพพิศ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลท่าสุด เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องกฏหมาย และที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข และส่งเสริมสุขภาพ โดยวัตถุประสงค์ในการอบรมเพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้สัมผันอาหารได้มีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้นในการดำเนินการสุขาภิบาลด้านอาหาร สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปรุงและประกอบอาหารได้อย่างถูกต้อง ในการฝึกอบรมดังกล่าว ยังมีการให้ผู้ประกอบการร่วมสาธิตการวัตถุดิบประกอบอาหาร การล้างผักและผลไม้ รวมถึงการล้างมือที่ถูกวิธี เพื่อจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาความรู้ เพิ่มพูนทักษะ สร้างคุณภาพ และคุณค่าด้านงานสุขาภิบาลอาหาร เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอง และได้ปฏิบัติตามมาตรฐานงานสุขาภิบาลได้อย่างถูกต้อง
4. เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 กิจกรรมอบรมสุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (หลักสูตรผู้ประกอบการ) ประจำปี 2567 การในครั้งนี้ยังคงได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานเทศบาลตำบลท่าสุด โดยมี พันจ่าเอกอัฐพงษ์ อำไพพิศ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มาเป็นวิทยากรให้กับการอบรมครั้งนี้ ซึ่งยังคงเน้นย้ำในเรื่องของกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภิบาล พร้อมยกประเด็นปัญหา และแนวทางแก้ไขในการออกใบประกอบการต่างๆ ในด้านสุขาภิบาลให้ถูกต้องได้ การอบรมในรอบสองนี้ ก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในการประกอบกิจการภายใต้ระเบียบ กฏหมาย ข้อบังคับ ในการจัดทำธุรกิจที่เกียวข้องกับการประกอบอาหาร และงานด้านสุขาภิบาล อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้เข้ามาใช้บริการ พร้อมนำความรู้ที่ได้รับมาต่อยอด และยกระดับมาตรฐานในงานด้านสุขาภิบาลอาหารของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้มีคุณภาพ และทัดเทียมกับหน่วยงานภายนอกได้
โดยหลังจากผู้ประกอบการได้รับการอบรมในการให้บริการ พบว่ามีข้อร้องเรียนการให้บริการของผู้ประกอบการลดลง และการอบรมสุขาภิบาลอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในงานด้านสุขาภิบาลอาหาร และผ่านมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมทั้งได้รับป้ายมาตรฐานอาหารปลอดภัย Food Safety ประจำปี เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของร้านอาหารภายในมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้น