เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
ระหว่างวันที่ 6 - 11 ธันวาคม 2566 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่องกลไลการเกิดโรคมะเร็ง (Oncogenesis) พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และคณาจารย์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 15 อาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังอาคารสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่คณาจารย์ และนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จำนวน 57 คน ทรงบรรยายพิเศษเรื่อง อองโคยีน หรือ ยีนมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์ และเรื่องยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง โรคมะเร็ง เกิดได้จากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่แบ่งตัวแล้วเจริญอย่างรวดเร็วไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดได้จากไวรัสที่แทรกแซงเข้าไปในเซลล์แล้วเข้าควบคุมการทำงานของยีนในเซลล์ปกติ จากการศึกษาวิจัยในระดับโมเลกุลพบว่า ยีนของไวรัสเมื่อเข้าควบคุมแล้วจะเกิดการกลายพันธุ์ของยีน, การย้ายตำแหน่งของโครโมโซม และการเพิ่มจำนวนของยีนอย่างรวดเร็ว ปกติเซลล์จะถูกควบคุมโดยกลุ่มของโปรตีนให้มีการแบ่งตัวในอัตราที่เหมาะสม หากเซลล์ผิดปกติจะเกิดกระบวนการต่อต้านการเกิดมะเร็งขึ้น ด้วยการทำลายตัวเองแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมียีนยับยั้งการเกิดมะเร็งหลายชนิด และทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งแตกต่างกัน เช่น ยีน p53 ทำหน้าที่สร้างโปรตีนจำเพาะผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและเป็นกลไกตรวจจับเซลล์ที่ผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นยีนที่มีความสำคัญและมีการศึกษากันอย่างกว้างขวางในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้
โรคมะเร็ง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการและประโยชน์กับประชาชน จึงทรงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เพื่อผลิตบุคลากรและขยายขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสาธารณสุข ในภาคเหนือตอนบน ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สนับสนุน ส่งเสริม ด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการวิจัย โดยใช้ศักยภาพด้านเทคโนโลยีเฉพาะทางที่ทันสมัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำไปสู่การวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรค ที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
โดยในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ศุภกร โรจนนินทร์ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฝ้ารับเสด็จ ทั้งนี้ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ภริยาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย ภริยาผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ภริยาผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้แทนนักศึกษาแพทย์ ถวายพวงมาลัย