เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้

มฟล.จัดการประชุมเครือข่ายนักวิชาการอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยการสนับสนุนของสถานทูตสหรัฐฯ

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงแรม The Imperial Golden Triangle Resort อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) และดิ๊ก คัสติน (Dick Custin) ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ Mekong Academic Consortium Conference 2023 (MAC) 2023 เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง และส่งเสริมเครือข่ายนักวิชาการไทย-สหรัฐฯ เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในแม่น้ำโขง
.
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดการประชุม MAC 2023 ขึ้น ในหัวข้อ “Advancing Scientific Capacity, Strengthening Thai-U.S. Academic Network, and Creating Solutions for a Sustainable Mekong River Basin”  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยและสหรัฐฯ กว่า 40 คน 
.
การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการไทยที่มีความสนใจร่วมกันมีส่วนร่วมและแบ่งปันข้อมูลงานวิจัยเรื่องการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ และความท้าทายด้านการบริหารจัดการน้ำ-พลังงาน-และความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ การประชุมจะเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการไทยหลากหลายสาขาวิชาได้ร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมทำงานวิจัยในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาข้อเสนอการวิจัยร่วมกันระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาบนพื้นฐานความรู้และเป็นแนวทางให้แก่ Mekong Academic Consortium (MAC) และรัฐบาลในการวางนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
.
“คำกล่าวที่ว่าสภาพแวดล้อมไม่มีขอบเขต ในความเป็นจริง ผืนดินและแม่น้ำอาจกั้นเขตแดนทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่จากมุมมองทางนิเวศวิทยา ผืนดินและแม่น้ำเชื่อมเราเข้าด้วยกัน และเรามีความต้องการและแบ่งปันร่วมกันทั่วโลก คำกล่าวนี้เป็นความจริงอย่างยิ่งสำหรับแม่น้ำโขง และด้วยบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ได้กำหนดหน้าที่ในการเป็นแหล่งความรู้ในภูมิภาคนี้ ซึ่งได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาและตามรอยพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการช่วยฟื้นฟูผืนป่า และส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน” ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร กล่าว
.
“ในฐานะประเทศที่มีบทบาทความรับผิดชอบในระดับโลก สหรัฐฯ ให้ความสนใจแม่น้ำโขงโดยเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเจริญรุ่งเรืองเพื่อประโยชน์ร่วมกันของชาวไทยและชาติอื่น ๆ ในภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2552 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในลุ่มน้ำโขงภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ รวมมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ
.
การประชุม MAC เป็นเวทีที่เหมาะสมที่เราจะร่วมมือกับนักวิชาการในท้องถิ่นเพื่อจัดการความท้าทายที่ซับซ้อนซึ่งผู้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเผชิญอยู่” ดิ๊ก คัสตินกล่าว
.
ในระหว่างการประชุม นักวิชาการไทยจะนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายและมโนทัศน์แห่งอนาคตของแม่น้ำโขง ตลอดจนผลกระทบทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา การเมือง และเศรษฐกิจ จากกิจกรรมของมนุษย์ต่อการดำรงชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำโขง รวมถึงการเกษตรและการประมง
.
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้เดินทางไปศึกษาภาคสนาม ชมพื้นที่เวียงหนองหล่ม และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อรับฟังคำแนะนำและข้อกังวลในประเด็นต่าง ๆ ของสมาชิกชุมชน เพื่อให้การพัฒนาในอนาคตสะท้อนความต้องการของผู้คนในท้องถิ่นและส่งเสริมการมีส่วนร่วม
.
การประชุมวิชาการ MAC ประจำปี 2566 เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาทางวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างไทย–สหรัฐฯ ในหัวข้อ “Advancing Scientific Capacity, Strengthening Thai-US Academic Network, and Creating Solutions for a Sustainable Mekong River Basin” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่กันยายน 2565 จนถึงธันวาคม 2566
.
ตลอดระยะเวลา 25 ปีแห่งการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้มุ่งมั่นเป็นแหล่งความรู้ของภูมิภาคในการส่งเสริมการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนผ่านการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ การส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรม และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โครงการนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมกิจกรรมระดับนานาชาติและภูมิภาคเพื่อสร้างความยั่งยืน ความยืดหยุ่นและความปลอดภัยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

  • 1499 ครั้ง
  • #อธิการบดี #สถาบันวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง #สำนักวิชาการจัดการ #ส่วนพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ