เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
เมื่อวันที่ 21 - 22 กันยายน 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมลงพื้นที่ ชื่นชมสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ให้บริการทันตกรรมเชิงรุกร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ ช่วยให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง เข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และ น.ส. จินตนา สันถวเมตถ์ ผอ.กลุ่มจังหวัด สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการให้บริการทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และโครงการทันตกรรมพระบรมราชชนนี ที่สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมี ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล กังวลกิจ คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้การต้อนรับ
ผศ.(พิเศษ) ทันตแพทย์ไพศาล กังวลกิจ คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการเปิดบริการทันตกรรมนี้คือการเพิ่มสิทธิ์และการเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่เขต 3 ตำบลรอบรอบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และอำเภอรอบนอกในจังหวัดเชียงราย โดยในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ตุลาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2566 เราให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 9,066 คน และเรายังตั้งใจจะขยายโครงการทันตกรรมพระบรมราชชนนีเพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้เพิ่มเติม โดยได้ออกหน่วยไปแล้ว 24 ครั้ง
คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ กล่าวว่า นอกจากนี้สำนักวิชาทันตแพทย์ยังจัดโครงการทันตกรรมพระบรมราชชนนี โดยให้บริการทันตกรรมนอกสถานที่ สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นแต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในคลินิกได้ โดยมีทีมทันตแพทย์ และทันตบุคลากรจากสำนักวิชาร่วมกับทีมจากโรงพยาบาลในพื้นที่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย พร้อมให้บริการในสถานที่ ใกล้บ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกการเข้ารับบริการของประชาชน
“อย่างไรก็ตาม โครงการทันตกรรมนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานทางการแพทย์ ในร่วมให้บริการทางทันตกรรมแก่ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ต้องการการรักษาทันตกรรมและดูแลสุขภาพช่องปากของพวกเขาให้ดีที่สุด และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างสูงสุด จากการเปิดให้บริการทันตกรรมนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก้าวข้ามเพื่อเพิ่มคุณภาพด้านสุขภาพช่องปากและทันตกรรมในชุมชนของประชาชนในอนาคต” คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า นับว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์กับผู้มีสิทธิบัตรทองเนื่องจากการได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากเบื้องต้น จะทำให้ทราบภาวะสุขภาพในช่องปากของตนเอง กรณีที่พบปัญหา เช่น ฟันผุ มีหินน้ำลาย เหงือกอักเสบ มีความจำเป็นต้องถอนฟัน และใส่ฟันเทียม รวมถึงใส่รากฟันเทียม จะได้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของตนเองต่อไป โดยในส่วนของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) นั้น สปสช.ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการทันตกรรมที่ครอบคลุมดูแลแล้ว นอกจากบริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน ยังมีบริการทันตกรรมรักษา ได้แก่ บริการถอนฟันอุดฟัน อุดคอฟัน ขูดหินปูน การเกลาฟันหรือเกลารากฟัน ผ่าฟันคุด และการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ในการรักษาและตามข้อบ่งชี้ของทันตแพทย์
นอกจากนี้ภายใต้ระบบบัตรทองยังมีบริการทันตกรรมเพื่อฟื้นฟู ทั้งบริการใส่ฟันฐานพลาสติกทั้งแบบซี่ถอดได้และแบบทั้งปากถอดได้ บริการใส่รากฟันเทียมทุกกลุ่มอายุที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียมทั้งปากแล้วฟันเทียมหลวมไม่แน่น ไม่กระชับหรือไม่สามารถใส่ฟันเทียมได้ เป็นต้น ทั้งนี้บริการทันตกรรมที่กล่าวมาแล้ว ต้องให้ทันตแพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาและฟื้นฟู โดยเป็นไปตามดุลพินิจของทันตแพทย์
“ผู้มีสิทธิบัตรทองที่รับการตรวจฟันแล้ว รวมถึงผู้ที่รับบริการตรวจคัดกรองทันตกรรม ภายใต้โครงการฯ ของสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
ในวันนี้ที่เป็นสิทธิบัตรทอง หากพบว่ามีปัญหาฟันและสุขภาพช่องปาก สามารถเข้ารับการรักษาได้โดยใช้สิทธิบัตรทองได้ โดยสอบถามหน่วยบริการประจำเพื่อเข้ารับบริการต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทั้งนี้ มีผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขเชียงรายและ โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร อำเภอเวียงชัย ให้บริการผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย
ที่มา: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)