เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้

มฟล. รุกวิจัยด้านผู้สูงอายุ รับสังคม – แรงงานสูงวัย สนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุได้มากขึ้น

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

            ศ.ดร.เกษราวัลณ์ นิลวรางกูร อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า ด้วยตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่ได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนผู้สูงวัยทำงานเพื่อความผาสุกและสุขภาวะที่ดี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุตัวเลขผู้สูงวัยที่ยังทำงานอยู่มีจำนวน 3.84 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 38.2 ของประชากรสูงวัยทั้งหมด ทั้งแรงงานสูงวัยมีข้อได้เปรียบที่มีประสบการณ์การทำงานนำมาประยุกต์ใช้ได้ดี แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับความเสื่อมถอยของร่างกาย ตนและคณะจึงได้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของแรงงานสูงวัย เพื่อพัฒนากลวิธีในการสร้างเสริมความรู้เพื่อป้องกันโรคจากการทำงานของแรงงานสูงวัย โดยศึกษาระหว่างปี พ.ศ.2559 – 2560 เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้แรงงานสูงวัยสุขภาพดี มีความสุข ไม่เจ็บป่วยจากการทำงาน ได้ผลผลิตดีมีเงินใช้ และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

             คณะนักวิจัยพบว่าแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่ เจ็บป่วยจากโรคระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ร้อยละ 50 และการที่แรงงานเหล่านี้มีความเสื่อมถอยด้านการได้ยินและการมองเห็น ทำให้เกิดอุบัติเหตุจาการทำงานมากขึ้นถึงร้อยละ 18.2 และเจ็บป่วยจากการได้รับพิษของสารเคมี ร้อยละ 70 อย่างไรก็ตามการเจ็บป่วยดังกล่าวสามารถป้องกันได้หากมีการป้องกันตนเองที่เหมาะสม แต่ที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานนอกระบบ มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการให้บริการจากสถานบริการสุขภาพเกี่ยวกับการป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงานค่อนข้างจำกัด

               ทั้งนี้ก่อนดำเนินการวิจัยแรงงานสูงวัยมีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคจากการทำงานไม่เหมาะสมและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ รวมถึงข้อมูลและสื่อความรู้ที่มีอยู่ยากแก่การจดจำและนำไปปฏิบัติ เนื่องจากไม่สอดรับกับวิถีชีวิตการทำงานของแรงงานสูงวัย ดังนั้นนักวิจัยจึงได้พัฒนากลวิธีสร้างเสริมให้แรงงานสูงวัยเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันการเจ็บป่วยจาการทำงาน โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

                และพบว่ากลวิธีที่ทำให้แรงงานสูงวัยเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงานคือ 1. ศึกษาปัญหา สาเหตุ ในการป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงาน 2. จัดทำสื่อให้ความรู้แก่แรงงานสูงวัยที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา สาเหตุ ความต้องการและการดำเนินชีวิตของแรงงานสูงวัย 3. ให้ความรู้โดยใช้ภาษาท้องถิ่นที่เข้าใจง่าย ใช้ภาพในการให้ความรู้มากกว่าตัวหนังสือ หากจำเป็นต้องใช้ตัวหนังสือ ต้องใช้ตัวหนังสือขนาดใหญ่ ในการให้ความรู้ต้องทวนซ้ำเพราะแรงงานสูงวัยมีข้อจำกัดเรื่องความจำ มีการสาธิตประกอบการบรรยาย มีต้นแบบที่ดี ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมกลุ่มทำกิจกรรมโดยชุมชน อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) เยี่ยมบ้านให้ความรู้เพื่อเพิ่ม บุคลากรสุขภาพให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่ อสม.  และชุมชน กลวิธีนี้ทำให้แรงงานสูงวัยดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงานได้ดีขึ้น 

                “ตามมุมมองนักวิจัยซึ่งเป็นบุคลากรสุขภาพต่อการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานสูงวัยทำงานเป็นสิ่งที่ดี และควรหาวิธีการป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงานร่วมด้วย โดยนวัตกรรมเชิงกลวีในการให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองของแรงงานสูงวัย เพื่อให้มีพฤติกรรมการป้องกันโรคจากการทำงานอย่างเหมาะสมโดยมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นสิ่งสนับสนุนให้แรงงานสูงวัยทำงานอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิต มีสุขภาวะที่ดี” ศ.ดร.เกษราวัลณ์ กล่าวและว่า การพิจารณาจ้างงานผู้สูงอายุ ที่นอกจากจากความสามารถและศักยภาพในการทำงานแล้ว ประเด็นเรื่องสุขภาพก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยด้วยเช่นกัน

                ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจาก มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • 2543 ครั้ง