มฟล.จัดอบรม ‘ความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ’

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยส่วนบริหารงานวิจัย สถาบันวิจัยและนวัตกรรม ร่วมสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ‘ความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity)’ ในวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2566 เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ ห้องคำมอกหลวง อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อให้ความรู้แก่คณาจารย์นักวิจัย นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในห้องปฏิบัติการทางชีวภาพและผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทั่วไปภายในมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพฯ และความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่ดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี ชีวภาพสมัยใหม่หรือพันธุวิศวกรรม และที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทั่วไป รวมถึงความปลอดภัยต่อผู้วิจัย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี เป็นประธานเปิดกิจกรรม                
.
ทั้งนี้การบรรยายและการฝึกปฏิบัติในหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ, หลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ, การปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ, อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย, การทำลายเชื้อโรค, การจัดการขยะและขยะติดเชื้อ, การขนส่งเชื้อโรคในและต่างประเทศ, ฝึกปฏิบัติการการใส่และถอดอุปกรณ์ปกป้องส่วนบุคคล, ฝึกปฏิบัติการจัดการสารชีวภาพรั่วไหล ฝึกปฏิบัติการออกแบบสถานที่การจัดวางเครื่องมือและอุปกรณ์ในสถานปฏิบัติการ เป็นต้น โดยวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ดร.ชาลินี คงสวัสดิ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, ศาสตราจารย์ ดร.ภก. ชลภัทร สุขเกษม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, อาจารย์ พัฒนา เอี่ยมกระแสสินธุ์ ศูนย์บริหารความปลอดภัยอาชีวอนามัย, ดร. ทนพ. จิรพัฒน์ คล้อยปาน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงกล สายสิงห์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ดร. ณัฏฐ์สรัล สายชนะ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ดร. อนุพงศ์ เมฆอุดม สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
 เป็นต้น
.
การวิจัย ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างองค์ความรู้นำมาใช้ในการเรียนการสอน การพัฒนาประเทศ และพัฒนาคุณภาพในด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย ในปัจจุบันการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือพันธุวิศวกรรม มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ การเกษตร และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักสากลในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาต้องมีการดูแลความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ และมาตรฐานความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการวิจัยการทดลองนั้น มีความปลอดภัยต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและสิ่งแวดล้อม ในทุกด้าน และส่งผลให้ผลงานวิจัยที่ได้มีมาตรฐานในระดับสากล และเป็นที่ยอมรับต่อไป

  • 2690 ครั้ง
  • #สถาบันวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง #ส่วนบริการงานวิจัย