เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวต้อนรับ ร่วมมอบใบประกาศนียบัตร และกล่าวปิดกิจกรรม การนำเสนอผลงานวิชาการ “โครงการต่อยอดการพัฒนาทักษะของครูด้านภาษาอังกฤษ และภาษาจีน สู่การเป็น Smart Teacher และพัฒนานักเรียนสู่การเป็น Smart Local Leader” โดยมีอาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่างรายงาน และได้รับเกียรติจากนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวเปิดโครงการ และร่วมมอบใบประกาศนียบัตรให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรมอมารี พัทยา จังหวัดชลบุรี ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (กองทุนอีอีซี) ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แบ่งเป็น ครูสาระวิชาภาษาอังกฤษ 22 คน และครูสาระวิชาภาษาจีน 16 คน โดยกิจกรรมการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Pitching) ได้รับเกียรติจากคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.สรบุศย์ รุ่งโรจน์สุวรรณ เป็นกรรมการกลุ่มสาระวิชาภาษาอังกฤษ และ คณบดีสำนักวิชาจีนวิทยา อาจารย์ ดร.ธีรภาพ ปรีดีพจน์ เป็นกรรมการกลุ่มสาระวิชาภาษาจีน นอกจากนี้ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า (Pitching) ทั้ง 2 กลุ่มสาระวิชา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นสถาบันการศึกษาที่ยึดมั่นสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการ "ปลูกป่า สร้างคน" โดยมุ่ง "สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณภาพ สร้างคุณธรรม และอนุรักษ์ธรรมชาติ" โดยมุ่งหวังเป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคม ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันของสถานการณ์โลกซึ่งเชื่อมโยงถึงมิติการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่มิได้มุ่งเน้นเพียงแต่การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต (New Engine of Growth) เท่านั้น แต่ยังให้การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอีกด้วย สอดคล้องกับแผนการพัฒนาที่ 3 ด้านพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี จากแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC ทั้ง 8 แผนซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับโอกาสจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพันธกิจในด้านดังกล่าวที่ได้หยิบยกประเด็นการพัฒนาครูภาษาอังกฤษและภาษาจีน มาเป็นประเด็นหลักสู่การต่อยอดความเป็นเลิศในการใช้ภาษาต่างประเทศไปถึงนักเรียน ซึ่งในอนาคตจะเป็นแรงงานทักษะสูงของพื้นที่ EEC
“จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ด้านการพัฒนาครูในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัดเชียงรายอย่างมีนัยสำคัญ โดยอ้างอิงจากการวัดมาตรฐานของหน่วยงานจากกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านกลไกการบูรณาการหลักสูตรและกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาเทคนิคการสอนของครู การสร้างสื่อการสอนที่ทันสมัยและตรงต่อความต้องการของชั้นเรียน การพัฒนาเนื้อหาในกลุ่มสาระวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาจีน พร้อมทั้งการเสริมทักษะและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้แก่ครูและนักเรียนปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ ระดับจังหวัด ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าว
ด้านนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการ EEC เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่สมบูรณ์แบบเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือ อุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้ง 4 โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2570 หนึ่งในพันธกิจสำคัญคือ การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็น skill set สู่การเรียนรู้วิชาการอื่นๆ โดยจะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนจะเป็นนักลงทุนจีนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้พื้นที่ EEC เป็น Destination ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เรามีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรเรื่องภาษาจึงจำเป็นยิ่ง
“ดิฉันขอขอบคุณมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้านการจัดการเรียนการสอน และผลงาน มีความเป็นนานาชาติ เข้ามาช่วย EEC ด้านการพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยการมุ่งเป้าไปที่ครูเป็นลำดับแรกเพื่อจะช่วยขยายผลไปสู่นักเรียน ซึ่งจะเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ต่อไปในอนาคต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณครูทุกท่าน ที่ผ่านกระบวนการจัดอบรม การติดตาม และการขยายผล ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อมจากมหาวิทยาลัยจะประสบผลสำเร็จและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรของ EEC ให้ได้ตามเป้าหมายต่อไป” รองเลขาธิการ EEC กล่าว
ชมประมวลภาพได้ที่นี่