หลักสูตรพุทธศิลปกรรม มฟล. ขึ้นทะเบียนผู้เรียนรุ่นที่ 3 พร้อมทำการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ เน้นทฤษฎีและปฏิบัติแบบเข้มข้น หวังสร้างศิลปินมืออาชีพรุ่นต่อรุ่น

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

   มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ศูนย์บริการวิชาการ จัดการรายงานตัวและขึ้นทะเบียนผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม รุ่นที่ 3 พ.ศ. 2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 ณ อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี มฟล. มีรายชื่อผู้รายงานตัวจำนวน 60 รูป/คน โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวแสดงความยินดี และมอบเข็มกลัดที่ระลึกของหลักสูตรฯ ให้แก่ผู้เรียน ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ บรรยายภาพรวมของหลักสูตร รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์ประจำหลักสูตร แนะนำหลักสูตร แนวทางการสอน การวัดและการประเมินผล รวมทั้งชี้แจงรายละเอียดสัญญาการจัดการสิทธิและการจัดสรรผลประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้การศึกษาหลักสูตรฯ พร้อมทั้งคณาจารย์ประจำหลักสูตรให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ อาจารย์ทองเดช ทิพย์ทอง อาจารย์วาทิตย์ เสมบุตร อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น อาจารย์วัชระ กว้างไชย์ และ อาจารย์กาญจนา ชลศิริ

    ต่อมาเป็นกิจกรรมแนะนำสถานที่ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยส่วนประชาสัมพันธ์นำชมสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด ศูนย์อาหาร จากนั้นในช่วงบ่ายมีการขึ้นทะเบียนผู้เรียนในระบบทะเบียนผู้เรียน ณ ห้อง S 1-101 อาคารปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และนำชมพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นสถานที่เรียนของหลักสูตรฯ ก่อนปิดท้ายด้วยการเข้าเยี่ยมชมอาคารจัดแสดงผลงานศิลปะ ณ ปฐมาคารนุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒

   ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวแสดงความยินดีกับผู้รายงานตัวเป็นผู้เรียนของหลักสูตรว่า ในนามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับผู้เรียนทุกท่าน ที่ได้ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นในการเข้าศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งรุ่นนี้นับเป็นรุ่นที่ 3 รวมผู้เรียนทั้งสิ้นจำนวน 60 รูป/คน

    “ขอแสดงความชื่นชมหลักสูตรระยะสั้นนี้ ที่ได้มีการบริหารจัดการหลักสูตร ในการจัดการเรียนการสอนให้กับพระภิกษุ สามเณร และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในด้านพุทธศิลปกรรม ให้ได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษา โดยดำเนินการมาแล้ว 3 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา”

    “หลักสูตรนี้เป็นความคิดริเริ่มจากผู้ก่อตั้ง 3 ท่าน คือ พระเมธีวชิโรดม หรือที่เรารู้จักในนาม ท่าน ว.วชิรเมธี ที่ท่านเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ท่านที่ 2 คือ ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ และท่านที่ 3 คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ ท่านเป็นอธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และในปัจจุบันท่านเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วย โดยท่านทั้ง 3 ได้มีแนวคิดร่วมกัน ในการที่จะก่อตั้งให้มีหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุนทรียศาสตร์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแบบเข้มข้น ที่สร้างความรู้ความเข้าใจในด้านพุทธศิลปกรรมได้อย่างลึกซึ้ง ตลอดจนการเผยแพร่งานพุทธศิลปกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ และส่งเสริมให้งานพุทธศิลปกรรมให้คงอยู่ตลอดไป สิ่งเหล่านี้เป็นปณิธานของผู้ร่วมก่อตั้งที่มีอย่างชัดเจน”

      “สำหรับหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมนี้ ได้ดำเนินการในลักษณะแบบบูรณาการพันธกิจร่วมกัน ระหว่างการบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งได้ดำเนินการโดยการทำงานของศูนย์บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะเป็นลักษณะของการดำเนินการที่เป็นโครงการบริการที่ไม่มีรายได้ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพุทธศิลปการแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้จิตศรัทธาและรายได้ จำนวนร้อยละ 40  จากการจำหน่ายผลงานสร้างสรรค์ของอาจารย์ประจำหลักสูตรและผลงานของผู้เรียน”

      “หลักสูตรนี้ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 พุทธศิลป์พื้นฐาน ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ และระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ขั้นสูง โดยการดำเนินการสอนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และคณาจารย์ประจำหลักสูตรที่มีความรู้ความสามารถ จัดการเรียนการสอนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี โดยที่ผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาตามแผนการสอนในแต่ระดับ จะได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษา ที่รับรองโดยพระเมธีวชิโรดม ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ ซึ่งทั้ง 3 ท่านเป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรนี้”

      “หลักสูตรหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม นับเป็นหลักสูตร Master Class อย่างแท้จริง ด้วยเป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับผู้เรียนทุกท่านอีกครั้ง ซึ่งถือว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านเป็นผู้เรียนในหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงรุ่นที่ 3 ปี พ.ศ 2566 ซึ่งจะได้พัฒนางานด้านพุทธศิลป์ออกไปในวงกว้าง และก่อประโยชน์อย่างมีประสิทธิผลในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป” อธิการบดี มฟล. กล่าว

  • 21228 ครั้ง
  • #อธิการบดี #หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม (BUDDHIST ART MFU) #ศูนย์บริการวิชาการ