รมว.อว. เปิด ‘มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ (ภาคเหนือ)’ จัดโดย บพท.ร่วมมฟล.และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ 9 แห่ง

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ (ภาคเหนือ) จัดขึ้นโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ 9 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยนอร์ทเทิร์น มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชราชภัฏอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา เพื่อแสดงผลการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่มาจากงานวิจัย ภายใต้ ‘กรอบวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่’ ซึ่งหน่วย บพท.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยระหว่างปี 2563-2565 รวมทั้งสิ้น 48 โครงการทั่วประเทศ มีผลการดำเนินงานที่มีสัมฤทธิผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งเปิดตัวระบบฐานข้อมูลแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย: จาก Cultural Mapping สู่ Cultural Atlas และ Cultural Metaverse Thailand 
.
โดยพิธีเปิดกิจกรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 มี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ (ภาคเหนือ)” ที่ห้องประชุมประดู่แดง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวต้อนรับและกล่าวบรรยายวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้ โดยในงานดังกล่าวยังมีผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง และฝ่ายจังหวัดเชียงรายร่วมในงาน อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย
.
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวในงานนึ้ว่า “ปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและคนทั่วโลกต้องการเดินทางไปเยือนประเทศไทย คนรุ่นใหม่ที่เดินทางมาเองโดยไม่มากับทัวร์ท่องเที่ยวแล้วเข้าไปท่องเที่ยวตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ จึงจำเป็นที่แต่ละพื้นที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานโดยอาศัยการวิจัย อีกทั้งคนไทยยังเก่งทางด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ กีฬา บันเทิง โดยเฉพาะในเรื่องของศิลปะ สุนทรียะ และอารยธรรม เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ขายได้และเพิ่มมูลค่า มหาวิทยาลัยต้องสนใจปัญหานี้ให้มากขึ้น ต้องไปทำวิจัย เพื่อพัฒนาท้องถิ่น วิจัยทำให้เราคิดได้หลากหลายยิ่งขึ้น และต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์แบบนักบริหารด้วย ประเทศเรามีอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง ให้นำมาทำหลักสูตร ไม่จำเป็นต้องเป็นระดับปริญญาเสมอไป ถอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มาเป็นอาจารย์สอนคนในชุมชน กระทรวง อว. ก็ต้องทำการวิจัยทดลองที่ไม่ใช้แค่ในห้องแลป เช่น งานฟื้นใจเมือง ทุกคนเป็นนักวิจัยได้ อะไรที่ดีก็ทำต่อยอดไป และเราต้องไปร่วมมือกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในแนวหน้าของโลก เช่น อิสราเอล จีน นำจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว อาหารของเรามาดึงดูดนักวิจัยต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงดึงเรื่องวิทยาศาสตร์ให้พัฒนาสูงขึ้นด้วย
.
ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า นับเป็นมิติใหม่ที่มีการส่งเสริมทุนทางด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเคยมีอยู่อย่างหลากหลายแต่ที่ผ่านมาบางอย่างถูกละทิ้งและบางอย่างได้สูญหายไป ดังนั้นการกระตุ้นเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในยุคปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก โดยทาง มฟล. รับเป็นเจ้าภาพโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา และเครือข่าย ในการจัดงานครั้งนี้และน่ายินดีที่ทางกระทรวง อว.ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่างานฟื้นใจเมืองนี้จะเป็นพื้นที่ให้ทุกหน่วยงานมาร่วมทำงานด้านวัฒนธรรมกันอย่างเข้มแข็ง ผลงานที่มีออกมาจะต้องชัดเจนและจับต้องได้ 
.
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนทางด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ตอนนี้มี 40 มหาวิทยาลัย ใน 60 จังหวัด และมีผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย ที่มาร่วมกันสร้างพื้นที่ย่านวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดคุณค่า มูลค่า แรงบันดาลใจ ทำให้งานทั้งวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดรายได้ จับต้องได้และกินได้ ให้ประชาชนเกิดความรักบ้าน รักเมือง และรักรากเหง้าของตนเอง
.
ทั้งนี้มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฯ จัดเป็นครั้งที่สองในส่วนของภาคเหนือโดยมีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นเจ้าภาพสถานที่และประสานงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ กิจกรรมในครั้งนี้จะมีการนำเสนอผลงานต่างๆ ผ่านการจัดแสดงในรูปแบบของบูธนิทรรศการ การเสวนาทางวิชาการ การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดช่วงเวลาระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2566 นี้
.
กิจกรรมทั้งหมดเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ กิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม จากชมรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง การเสวนาร่วมสร้างร่วมสรรค์ พื้นถิ่น ด้วยการออกแบบพื้นถิ่น (Vernacular Design) เสวนาโดย ผู้แทนชุมชนเมืองเก่าแพร่, พระมหาธีรวิชญ์ วชิราโภ วัดกลางเวียง จ.เชียงราย, อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง แม่คำสบเปิน จ.เชียงราย ดำเนินการเสวนา: อ.พวงผกา ธรรมธิ สำหรับกิจกรรมบนเวทีการแสดง มีการแสดงกลองอุ่นเมือง (กลองสะบัดชัย 9 ลูก จากเชียงแสน), การแสดงขับทุ้มหลวงพระบาง, การแสดงร้อยเรื่องราววิถีชนเผ่าม้ง, การแสดงฟ้อนกลองอืด กลองปูจา ช่อแฮศรีเมือง โดยตลอดงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและการจัดจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม รวมถึงบูทจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากโครงการวิจัย
.
กิจกรรมวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ไฮไลท์เป็นพิธีเปิดมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง: จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่ (ภาคเหนือ)” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, การเสวนา:’ยั่งยืน ด้วยฟื้นวิถีใหม่’ โดย คุณบงกช กาญจนรัตนากร ร้านนิทานบ้านต้นไม้ (ประธานโรตารี่เมืองพะเยา), คุณอรัญญา เดชมโนมัย รองนายกเทศมนตรีคลองลานพัฒนา, คุณชินวัฒน์ โพธิแก้ว (ผู้ประกอบการไผ่ เมืองแม่แจ่ม), คุณธีรวุธ กล่อมแล้ว (ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เมืองแพร่) ดำเนินการเสวนา: อ.อิศรา กันแตง และยังมีการนำเสนอ  Chiang Saen Metaverse   โดย อ.ดร.ยุทธพงษ์ ทองแพง พร้อมกับกิจกรรมคู่ขนาน Workshop Chocolate Journey โดย Boo Chocolate จากโครงการวิจัยแม่คำสบเปิน, การเสวนา: ‘พลังท้องถิ่น ขับเคลื่อนพื้นที่ด้วยทุนวัฒนธรรม’ โดย นส.จุฬาสินี โรจนคุณกำจร อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพะเยา, นายวาโย ด่านไทยวัฒนา นายกเทศมนตรีแม่คำ, ดร.วิทยา ทัศนไพบูลย์ นายกเทศมนตรีคลองลานพัฒนา ดำเนินการเสวนา: อ.พนิดา ฐปนางกูร สำหรับบนเวทีการแสดงมีการแสดงระบำช้านางเหลียว, การแสดงร้อยเรื่องราววิถีชนเผ่าม้ง,     การแสดงฟ้อนนก ฟ้อนโต, การแสดงเสือไหหลำ และแฟชั่นโชว์ ‘ฟื้นใจ๋เมือง: ไม่เป็นอื่นด้วยฟื้นตัวตน’ 
.
และกิจกรรมในวันสุดท้ายของมหกรรม วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 มีการเสวนา ‘Wellbeing  เมืองอยู่อุ่น กินม่วนใจ๋’ โดย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการเสวนา: รศ.ดร.พลวัฒ  ประพัฒน์ทอง ด้านการแสดง มีการการแสดงฟ้อนแอ่น, การแสดงจากชมรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งทั้งหมดถือเป็นงานเทศกาลครั้งยิ่งใหญ่ที่รวมเอาคุณค่าทุนทางวัฒนธรรมจากภาคเหนือผ่านผลงานวิจัยเผยแพร่สู่สาธารณชน สามารถนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ได้ต่อไป 

  • 516 ครั้ง