เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
สถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้พัฒนาระบบจัดการจุดฝังเข็ม (MFU ACUPUNCTURE) เพื่อบันทึกประวัติการรักษาของคนไข้และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน โดยมีผู้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่เปิดให้บริการ ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนของสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ มฟล. ซึ่งในปัจจุบันเปิดสอนใน 3 สาขาวิชาคือ การแพทย์แผนจีน การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และกายภาพบำบัด ซึ่งจะได้นำระบบจัดการการรักษามาใช้เพื่อบันทึกประวัติการรักษาเฉพาะจุดเช่นเดียวกับการฝังเข็ม เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการรักษาของโรงพยาบาลต่อไป
อาจารย์ ดร.แพทย์หญิงสุลัคณา น้อยประเสริฐ รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า หลังจากทดลองนำระบบการจัดการจุดฝังเข็มมาใช้กว่า 2 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ปัจจุบันได้มีการจดลิขสิทธิ์ระบบดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
“ระบบจัดการจุดฝังเข็ม หรือ MFU ACUPUNCTURE ของสถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้มีการคิดค้นและพัฒนาระบบร่วมกันของบุคลากรฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอาจารย์ แพทย์จีนผู้ทำหัตถการ และงานเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการใช้งานระบบดังกล่าว จะมีการบันทึกข้อมูลประวัติผู้มารับบริการแผนจีน ทำให้การบันทึกข้อมูลเวชระเบียนสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัยต่อการสูญหายของข้อมูล และง่ายต่อการเรียกข้อมูลออกมาใช้งาน นับเป็นการบูรณาการความรู้ของบุคลากรในองค์กรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับศาสตร์แผนจีน ในการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อใช้บันทึกข้อมูลผู้มารับบริการด้านศาสตร์แผนจีน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการบันทึกประวัติและการเก็บรักษาข้อมูล ลดการใช้กระดาษในองค์กร สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งยังคำนึงถึง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย” อาจารย์ ดร.แพทย์หญิงสุลัคณา น้อยประเสริฐ กล่าว
นายธีรวัฒน์ ปันทะวงค์ หัวหน้างานเทคโนโลยีสารสนเทศ รพ.มฟล. กล่าวว่า “ระบบจัดการจุดฝังเข็ม (MFU Acupuncture) ใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ Windows Application ที่สามารถบันทึกข้อมูลหัตถการ จุดฝังเข็ม และชื่อย่อจุดฝังเข็มตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ทำการบันทึกลงบนฐานข้อมูลของระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) ซึ่งสามารถแสดงตำแหน่งจุดฝังเข็มต่าง ๆ ของร่างกายในรูปแบบกราฟิก 2 มิติ และจุดฝังเข็มสามารถเชื่อมโยงกับ ICD 10 TM (บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ) ซึ่งปัจจุบันเรากำลังพัฒนาระบบและทดลองใช้ในการรักษาเพื่อครอบคลุมคลินิกต่าง ๆ ของโรงพยาบาลต่อไป”