เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมประจวบ ภิรมย์ภักดี โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และอธิการบดีผู้ก่อตั้ง พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมการประชุมเปิดเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือ โครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งสถาบันการศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กฎบัตรไทย สมาคมผังเมืองไทย และเครือข่ายผู้ประกอบการด้านสุขภาพ เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการทางด้านสุขภาพ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ หรือเป็น Wellness hub ของโลก
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนระบบนิเวศรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม Wellness Hub ของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ โดยมีการผลักดันธุรกิจส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพร มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จนปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก
สร้างมูลค่าทางการตลาดของ Wellness Tourism ของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าในปี 2565 หลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย จะให้ความสำคัญกับการทำการตลาดที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งกลุ่ม Medical Tourism และ Health and Wellness Tourism มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การส่งเสริมและการขยายการท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ เป็นส่วนที่จะสร้างรายได้ที่เสถียรภาพ และทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจประเทศไทยเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ให้มีศักยภาพสูงจนเป็นต้นแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของภูมิภาค
โดยการนำ Wellness มาเป็นองค์ประกอบหลักในการดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้กลับสู่ประเทศ และเกิดผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพแบรนด์ไทยทั้ง 4 ผลิตหลัก ได้แก่ บริการส่งเสริมสุขภาพ บริการรักษาพยาบาล บริการวิชาการ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ จนกลายเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นเมืองมหาอำนาจด้านสุขภาพของโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด-19
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีนโยบายพัฒนาใบอนุญาตเวลเนส ใบเดียว หรือ wellness single license เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงแรม และกิจการเวลเนส สามารถนำกิจกรรม เวลเนสสาขาต่างๆ อาทิ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ตะวันออก งานเวชกรรมประเภทบริการความงาม สปา การฟื้นฟูสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ หรือดิจิทัลเฮลท์ เข้าดำเนินการในโรงแรมได้ เช่นเดียวกับต่างประเทศ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ขึ้นบรรยายพิเศษ เรื่อง ศักยภาพของภาคเหนือในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเวลเนสของอนุภูมิภาค โดยกล่าวว่า ความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางเวลเนสของของเหนือแบ่งเป็น 3 ด้านคือ 1. ความพร้อมทางจิตวิญญาณ (สุข - สงบ) 2. ความพร้อมทางระบบบริการสุขภาพ 3. ความพร้อมทางด้านนโยบาย ซึ่งหากดำเนินการได้จะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีทุกช่วงวัย ลดการเจ็บป่วย ลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของบุคคล และครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐเรื่องสวัสดิการ 30 บาท รักษาทุกโรค เพิ่มผลผลิตของชาติ เพราะคนสุขภาพดีทำงานได้มาก สิ่งสุดท้ายคือครอบครัวมีความสุข
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นบรรยายพิเศษ เรื่อง ศักยภาพและสมรรถนะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใ นการสนับสนุนการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือ โดยกล่าวว่า ในฐานะสถาบันการศึกษา นอกจากพันธกิจในการผลิตบัณฑิตที่ครอบคลุมทักษะวิชาชีพต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านศิลปศาสตร์ ด้านบริหารและการบริการ และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีการผลิตบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งสิ้น 6 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยยังมีอีกหนึ่งพันธกิจคือการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดตั้งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศูนย์บริการสุขภาพครบวงจรแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MFU Wellness Center) สถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพ และดูแลสุขภาพของประชาชน
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในส่วนเรื่อง Wellness hub จังหวัดเชียงราย ได้เรื่องนี้เข้าสู่แผนการขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดด้วย เพราะถือว่าจังหวัดเชียงราย มีศักยภาพในหลายด้าน ที่จะสามารถขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อทำให้ภาวะเศรษฐกิจนั้นดีขึ้น หลังจากที่สถานการณ์โควิด19 ทำให้เกิดผลกระทบตามมากมายในช่วง 2-3 ปี ดังนั้นการจัดประชุมครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อจังหวัดเชียงรายอย่างมาก ที่จะสามารถขับเคลื่อนกิจการ และกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวเชียงราย
ชมประมวลภาพได้ที่นี่