เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 3 โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (รพ.ศกพ.มฟล.) รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นประธานในพิธีเปิดห้องบริจาคโลหิต โดยมีผู้อำนวยการ รพ.ศกพ.มฟล. พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ ผู้บริจาคโลหิต และนักศึกษาเข้าร่วมพิธี
รศ.ดร.ชยาพร อธิการบดี มฟล. กล่าวว่า รพ.ศกพ.มฟล. มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นศูนย์การให้บริการทางการแพทย์ชั้นนำ ของภาคเหนือตอนบน และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนมีการศึกษาวิจัย พัฒนาทางการแพทย์ โดยมุ่งมั่นให้เป็นสถานที่ ฝึกอบรมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ และจะเป็นสถานศึกษาชั้นคลินิกของนักศึกษาแพทย์ ในอนาคต โดยเปิดให้บริการทางการแพทย์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ได้ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพตามมาตรฐานโรงพยาบาล และบริการสุขภาพ Healthcare Accreditation : HA) ชั้นที่ 2 จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และอยู่ระหว่างดำเนินการขอรับการรับรองฯ ขั้นที่ 3 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติชั้นคลินิกของนักศึกษาแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้งานพยาธิวิทยาประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาคลินิก พยาธิกายวิภาค รวมทั้งธนาคารเลือด เป็นหน่วยงานสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วย ตลอดจนสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาทางการแพทย์ และด้านการศึกษา รวมทั้งบริการวิชาการแก่ชุมชน ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าห้องบริจาคโลหิตแห่งนี้จะสามารถจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพสูงสุด และมีควาปลอดภัยแก่ตัวผู้บริจาคและผู้ป่วย เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยสืบไป
นาวาโทหญิง แพทย์หญิง อุบลวัณญ์ จรูณเรืองฤทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญงานพยาธิวิทยา รพ.ศกพ.มฟล. กล่าวว่า ในขณะนี้ห้องรับบริจาคโลหิตสามารถเปิดรับบริจาคโลหิตเฉลี่ยวันละประมาณ 10 - 15 คน แยกและผลิตส่วนประกอบโลหิตเบื้องต้นได้ มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรองรับการปฏิบัติงานอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้บริจาคโลหิต และผู้ป่วย เสริมความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล และเครือช่ายที่เกี่ยวข้อง โลหิตที่รับบริจาค ได้รับการตรวจหมู่เลือดและตรวจโรคติดเชื้อครบถ้วนตามมาตรฐาน ตรวจความเข้ากันได้กับผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัยก่อนให้ ตลอดจนการจัดเก็บ และการขนส่งโลหิตตามข้อกำหนด มีการบริหารคลังโลหิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้รักษาผู้ป่วย ด้านคุณภาพธนาคารเลือด ใช้มาตรฐานระดับชาติได้แก่ มาตรฐานศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มาตรฐานสากลได้แก่ ISO15189 และ 15190 รวมทั้งมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เพื่อพร้อมที่จะก้าวหน้าและเป็นผู้นำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากการสนับสนุนจาก มฟล. ยังมีองค์กรภายนอกในสายวิชาชีพบริการโลหิต ที่เป็น "เพื่อนร่วมคิด เป็นมิตรร่วมทาง" มาโดยตลอด ได้แก่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่ได้สนับสนุนโลหิต และส่วนประกอบโลหิตให้เพียงพอใช้ใน รพ.ศกพ.มฟล. ธนาคารเลือดโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่ได้สนับสนุนการศึกษาดูงานและเป็นพี่เลี้ยงแก่เจ้าหน้าที่นักเทคนิคการแพทย์ เมื่อเริ่มตันเปิดรับบริจาคโลหิต ธนาคารเลือดโรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา ที่ได้รับเจ้าหน้าที่นักเทคนิคการแพทย์ งานพยาธิวิทยา เข้าฝึกหัดการเจาะเก็บโลหิต ฝึกหัดการแยกส่วนประกอบโลหิต และฝึกการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ภายในงานได้มีการมอบของที่ระลึกให้แก่กลุ่มผู้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 50 ครั้งขึ้นไป ดังนี้ คุณวิษณุ เลิศรัตนกุล เจ้าหน้าที่บริหาร รพ.ศกพ.มฟล. จำนวน 117 ครั้ง อ.นพ.วิวรรธน์ เชียวศิลป์ แพทย์เฉพาะทางและอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. จำนวน 109 ครั้ง คุณชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน จำนวน 100 ครั้ง อ.นพ.อานนท์ จำลองกุล แพทย์นิติเวช รพ.ศกพ.มฟล. และอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. จำนวน 53 ครั้ง
ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดคุณชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน ได้เข้าบริจาคโลหิตครั้งที่ 101 ณ ห้องบริจาคโลหิต รพ.ศกพ.มฟล.