เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้

วช. จับมือ ไออาร์พีซี และ มฟล. พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเยื่อเลือกผ่านสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ในงาน ‘มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565’

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวเด่น

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คุณพยม บุญยัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และ ผศ.ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมให้ทุนวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีการผลิตเยื่อเลือกผ่านสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโดยวิธีการผลิตแบบแห้ง เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนางานวิจัย ขับเคลื่อนและยกระดับงานวิจัยไทยสู่การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม ณ เวที Highlight Stage มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565
.
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มุ่งเน้นการ วิจัยและการพัฒนานวัตกรรมให้มีความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ผ่านการปรับในเชิงกฎระเบียบหรือกฎหมาย ให้การสนับสนุนทุนวิจัยสามารถทำได้ง่ายขึ้น สามารถสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยในหน่วยงานของรัฐบาลและ ภาคอุตสาหกรรมได่โดยตรง ในลักษณะของการทำ Matching Fund เพื่อกระตุ้นการนำผลการวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิต การค้า และการบริการ และกระตุ้นการเพิ่มผลิตภาพและสร้างงานที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต วช. จึงได้พัฒนากรอบวิจัยที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักในประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงเพื่ออุตสาหกรรม 
.
คุณพยม บุญยัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไออาร์พีซี มีความยินดีที่ได้ร่วมลงนามการร่วมทุนกับ วช. ในการนำเทคโนโลยีการผลิตเยื่อเลือกผ่านสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโดยวิธีการผลิตแบบแห้ง ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยทางบริษัทฯ คาดหวังว่าโครงการวิจัยนี้จะตอบโจทย์ในด้านพลังงานและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งไออาร์พีซีให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพ ทันสมัย โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันตลาดภายในประเทศและระดับสากล
.
ด้าน ผศ. ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีนโยบายในการสนับสนุนมุ่งพัฒนาและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมให้มีมาตรฐาน ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อรับใช้สังคมให้มั่งคั่งและยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือในการทำงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี และขอขอบคุณทาง วช. และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และได้ให้โอกาสพร้อมทั้งการสนับสนุนการทำวิจัยในครั้งนี้
.
การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมให้ทุนวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีการผลิตเยื่อเลือกผ่านสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนโดยวิธีการผลิตแบบแห้ง ในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงถึงร่วมมือระหว่าง วช. กับภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)  ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการที่มีคุณภาพ ทันสมัย โดยใช้งานวิจัยนวัตกรรมในการขับเคลื่อน และเพื่อเพิ่มสามารถในการแข่งขันที่ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดย ผศ.ดร.สิทธิ ดวงเพชร อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้ดำเนินการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในเชิงอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดงานวิจัยที่ใช้ได้จริง ไม่ขึ้นหิ้งอีกต่อไป
.
ขอบคุณข่าวจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ bit.ly/3zIbT4v

  • 1743 ครั้ง