เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้
มฟล.จัดโครงการการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการสอนสมัยใหม่เพื่อพัฒนาทักษะครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา มีครูจากทั่วจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมกว่า 120 คน
.
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยมูลนิธิมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อการพัฒนาครูชนบท, สถาบันนวัตกรรมการเรียนรูู้ และศูนย์บริการวิชาการ จัดโครงการการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการสอนสมัยใหม่เพื่อพัฒนาทักษะครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ห้องคำมอกหลวง อาคาร M- Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมี ดร.ต่อพันธ์ ทันดร รองอธิการบดี เป็นประธานเปิด ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวรายงาน โดยมีครูกว่า 120 คน จาก 42 โรงเรียนจากทั่วจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมกิจกรรม
.
กิจกรรมภายในงานมีทั้งการเสวนาและการอบรมปฏิบัติการในหัวข้อที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเสวนาการเรียนรู้สมัยใหม่ที่ตอบสนองบริบทและความต้องการของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน : ทิศทาง แนวโน้ม ความท้ายทายและโอกาส ตัวอย่างและกรณีศึกษาหรือการอบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการสอนสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้เรียน Gen Z พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาสมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวได้จัดนิทรรศการไว้ ทั้งแบบเรียนออนไลน์และสื่อการสอนสมัยใหม่
.
ทั้งนี้มูลนิธิมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อพัฒนาครูชนบท จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในการสอน พัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับโรงเรียนรูปแบบต่างๆ รวมทั้งพัฒนานักเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นชนบท ตามที่ได้ประชุมหารือถึงแนวทางการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย และผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงราย
.
และได้พบประเด็นในการจัดการเรียนการสอนของครูในสถานการการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น คุณภาพในการจัดการเรียนการสอน สื่อและเครื่องมือในการจัดการสอน เทคนิคในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงการวัดปละประเมินผลจากกระบวนการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย จึงต้องการให้ครูในระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงราย ได้พัฒนาทักษะและวิธีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มุ่งเน้นกลุ่มครูผู้ช่วยและครูแกนนำโรงเรียน จำนวน 122 คน จาก 42 โรงเรียนในจังหวัดเชียงราย
.
โดย ดร.ต่อพันธ์ ทันดร รองอธิการบดี ได้กล่าวไว้ในการช่วงเปิดกิจกรรมว่า “ในหลายปีที่ผ่านมารูปแบบการเรียนการสอนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทั้งจากครูเป็นศูนย์กลางไปสู่นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน รวมไปถึงสื่อการเรียนการสอนด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโควิดยิ่งทำให้เป็นภาพความเปลี่ยนแปลงชัดเจน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ปรับตัวได้ ทางมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเราต่างร่วมประสบกับอุปสรรคเช่นเดียวกันในฐานะผู้สอน ทั้งช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่น ทั้งโควิดที่ทำให้ต้องเว้นระยะห่าง การติดตามความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีที่ช่วยสอน มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญจึงได้ตั้งสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ขึ้นมาเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน ซึ่งเราเห็นผลเห็นการเปลี่ยนแปลง ทางศูนย์บริการวิชาการซึ่งทำงานมูลนิธิพัฒนาครูชนบทจึงได้ประสานเพื่อส่งต่อประสบการณ์ในพัฒนารูปแบบและเทคนิคต่างๆ เพื่อนำไปสู่รูปแบบการเรียนการสอนที่ตอบรับกับสถานการณ์ต่างๆ ได้เท่าทัน”