เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้

ส่วนประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ MFU Wellness Center จัดทำคลิป “ศิลปะบำบัด” ให้แก่ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยรวม รพ.ศูนย์การแพทย์ มฟล. ลดความตึงเครียดของผู้ป่วยที่ต้องกักตัว

หมวดหมู่ข่าว: ข่าวประชาสัมพันธ์ SDG03 SDG04 ข่าวเด่น Update - Wellncess Center

         ส่วนประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับ ศูนย์บริการสุขภาพครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ MFU Wellness Center จัดทำวีดิทัศน์ “ศิลปะบำบัด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูสุขภาพกายใจเพื่อสร้างความแข็งแรง กิจกรรมฟื้นฟูสุขภาพด้วยสมาธิบำบัด หัวข้อศิลปะบำบัด โดยได้รับความอนุเคราะห์จากศิลปินเชียงราย ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษ หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม จากสถาบันพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สาธิตและฝึกสอนการทำงานศิลปะเบื้องต้น เพื่อเป็นกิจกรรมผ่อนคลายความตึงเครียดให้แก่คนไข้ในหอผู้ป่วยรวมและโรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

       โดยวีดิทัศน์ที่ส่วนประชาสัมพัน์จัดทำ แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม คือ การวาดเส้นพื้นฐาน (หุ่นรูปทรงเรขาคณิต ทรงกลม ทรงกระบอก ทรงสี่เหลี่ยม) ด้วยเทคนิคดินสอ EE โดย อาจารย์วาทิตย์ เสมบุตร, การวาดเส้นลายไทยพื้นฐาน (ลายกระจังตาอ้อย ลายประจำยาม ลายกระหนก 3 ตัว) ด้วยเทคนิคดินสอ 6B โดย อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น และ การวาดภาพทิวทัศน์ ด้วยเทคนิคสีอะคริลิค โดย อาจารย์อำนาจ ก้านขุนทด นอกจากนี้ยังมี การวาดภาพนิ่ง (ผลไม้ ดอกไม้) ด้วยเทคนิคสีน้ำ โดย อาจารย์อำนาจ ก้านขุนทด และ งานศิลปะปะติด (Collage) ด้วยกระดาษสีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดย อาจารย์วัชระ กว้างไชย์

       สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถรับชมได้ที่แฟนเพจ Facebook และช่อง Youtube ของ MFU Wellness Center หรือคลิก https://www.facebook.com/MFUWellnessCenter

        อาจารย์วาทิตย์ เสมบุตร จากการสอนวาดเส้นพื้นฐาน กล่าวว่า การวาดเส้นพื้นฐาน ประกอบด้วยรุปทรงเรขาคริตพื้นฐานคือ ทรงกลม ทรงกระบอก ทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งทั้ง 3 รูปทรงนี้ เป็นรูปทรงพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น รูปทรงทางของธรรมชาติ ร่างกายมนุษย์ ต้นไม้ สถาปัตยกรรม หรือรูปทรงอิสระต่างๆ ก็ล้วนเริ่มมาจากรูปทรงเรขาคณิต 3 ทรงนี้

         “วิชา Drawing เป็นหัวใจหลักของงานสร้างสรรค์ต่างๆ เพราะว่าเป็นวิชาที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ง่ายๆ คือ ดินสอ ยางลบ กระดาษ วาดโดยการใช้น้ำหนักขาว-เทา-ดำ เราสามารถที่จะทอดรูปแบบ รูปร่าง รูปทรง และความรู้สึกของเราออกมาได้อย่างฉับพลันซึ่ งวิชา Drawing หรือวิชาวาดเส้น สามารถนำไปต่อยอดและสร้างสรรค์ได้โดยการที่เราหาความเป็นไปได้ของเส้น หรือว่ารูปร่างรูปทรงที่เราประทับใจ หรือตามจินตนาการของเรา ที่เราจะสามารถถ่ายทอดออกมาได้ นี่คือหัวใจหลักเริ่มแรกของการสร้างสรรค์ โดยหลักการของการวาดเส้นง่ายๆ ก็คือ ให้รู้จักสังเกต เมื่อเรารู้จักสังเกต แล้วจะรู้ว่าจะถ่ายทอดอย่างไร กับสิ่งที่เราเห็น คือเราต้องมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เราทำอยู่ การทำงานศิลปะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันและไม่คิดฟุ้งซ่านเรื่องอื่นออกไปไกลตัว เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง โดยเริ่มจากในการสังเกตสิ่งรอบตัว” อาจารย์วาทิตย์ กล่าว

     ด้าน อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น จากการสอนวาดเส้นลายไทยพื้นฐาน กล่าวว่า ลายไทยอยู่คู่กับความเป็นไทยมาเนิ่นนาน สำหรับที่มาของลายไทยนั้นเริ่มแรกตามประวัติศาสตร์เท่าที่สำรวจได้ น่าจะมาจากตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย แต่ตอนนั้นลายไทยยังไม่เรียกว่าลายไทย หรือมีชื่อเรียกอย่างปัจจุบัน โดยลวดลายต่าง เช่น ลายกระหนก คือลวดลายที่มาจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ใบโพ กิ่งไม้ เถาวัลย์ เป็นที่มาที่ช่างได้สังเกตจากธรรมชาติ แล้วนำมาถ่ายทอด วาดออกมาเป็นลวดลาย หรือปั้นเป็นลวดลายต่างๆ ที่จะปรากฏมากที่สุดชัดมาก อย่างเช่ ลายกระหนก ลายเปลว ซึ่งถือว่าเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย จะเห็นได้ในยุคสมัยอยุธยาที่ได้คลี่คลายลวดลายต่างๆ จนมีความวิจิตรงดงาม มีลวดลายจากเปลวไฟบ้าง เถาวัลย์บ้าง ผสมผสานจนเกิดเป็นลายกระหนกต่างๆ เช่น ลายกระหนกเปลว กระหนกก้านขด หรือเรียกง่ายๆ ว่า กระหนก 3 ตัว หรืออย่างที่นำมาสอนวันนี้ก็คือ ลายพื้นฐานง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเขียนได้ ลายกระจังตาอ้อย ลายประจำยามและลายกระหนก 3 ตัว

       “ลายไทยจะมีประโยชน์มากกับคนที่ฟุ้งซ่าน เพราะว่าการเขียนลายไทยเราต้องมีสมาธิและจดจ่อในเรื่องของการใช้เส้น เส้นที่มีความโค้ง มีความเคลื่อนไหวต่างๆ ทำให้เกิดความพริ้วไหวได้ ถ้าสนใจจริงๆ สามารถทำได้ทุกคน อย่างที่บอกว่าเริ่มจากโครงสร้างง่ายๆ ที่เราจะดูยากเพราะว่ามันมีลวดลายเสริมใส่เข้าไปเยอะ ที่เราเห็นในวัดวาอารามต่างๆ มีความละเอียดมาก ถ้าเราไม่เข้าใจ ก็ไม่รู้ว่ามีการสร้างมาจากเส้นพื้นฐานง่ายๆ ลายไทยนำไปใช้ได้ในหลายด้าน ทั้งในงานเขียนภาพ งานจิตรกรรมฝาผนัง อยู่ในพวกสถาปัตยกรรม ลวดลายสถาปัตยกรรมต่าง ๆ อยู่ในเครื่องทรงองค์เครื่องของเทวดา ของพระนางต่าง ๆ ถ้าเป็นสถาปัตยกรรม ก็จะนำมาตกแต่งรอบอาคาร ตั้งแต่ฐาน คาน เสา หัวเสา เพดาน ซุ้มประตูหน้าต่างก็ประกอบด้วยลายไทยทั้งนั้น  ลายทุกอย่างประกอบกันจนเป็นรายที่ละเอียด ก็เอาไปเขียนได้ เอาไปปั้นได้ เอาไปแกะสลักได้หมด”

      “การทำงานศิลปะ ถ้าเรามีความตั้งใจจดจ่อที่จะเขียนจริง จะทำให้เรามีสมาธิ พอมีสมาธิแล้วจะทำให้เรานิ่ง พอเขียนเป็นแล้วจะเกิดความเพลิดเพลิน สำหรับใครที่สนใจก็ลองฝึกวาดตามที่ได้สอนตามกระบวนการเบื้องต้นไป ถ้าเราอยากไปเห็นของจริง ก็เข้าไปตามวัดวาอารามก็ได้ เราจะพบลายเหล่านี้เยอะมาก ที่อยู่ในงานประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมไทยต่างๆ อีกอย่างก็คือ ลายไทยเป็นลายที่เป็นรากเหง้าของความเป็นไทย พัฒนามาจากธรรมชาติจนเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อยากให้ทุกคนลองไปสังเกตศึกษาดู ให้จะเกิดความเข้าใจและซาบซึ้งในความเป็นไทยเรามากขึ้น” อาจารย์ขจรเดช กล่าว

      ในครั้งนี้ อาจารย์อำนาจ ก้านขุนทด ได้มาการสอนวาดภาพทิวทัศน์ด้วยเทคนิคสีอะคริลิค ทั้งยังกล่าวว่า สำหรับผู้ที่สนใจการวาดภาพด้วยสีอะคริลิคสามารถนำทิวทัศน์ อาจจะเป็นมุมที่เราเคยเห็นทั่วไปในจังหวัดเชียงราย นำมาวาดเป็นภาพที่เราชอบได้

      “งานศิลปะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้เยอะ เพราะว่าการทำงานศิลปะเราต้องเรียนรู้ความเป็นตัวเราก่อน แล้วมองออกไปข้างนอกบ้าง มองไปในธรรมชาติ อย่างผมเขียนรูป ผมต้องมีเวลาให้กับธรรมชาติ มีเวลาให้กับสิ่งรอบตัวเราตลอด เฝ้าสังเกตทุกอย่างทุกเวลาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ สิ่งเหล่านี้มันจะซึมซับเข้าไปในจิตใจของเรา เราก็จะสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ เพราะฉะนั้นงานศิลปะจะเป็นตัวเลือกอีกทางหนึ่ง ที่จะทำให้เรามีจิตใจที่เบิกบานขึ้น ยกระดับจิตใจของเราให้รู้สึกว่ามันมีอะไรอีกมากมายบนโลกใบนี้ ที่ผ่านมุมมองทางศิลปะถ่ายทอดออกมาได้” อาจารย์อำนาจ กล่าว

....

  • 3023 ครั้ง
  • #ส่วนประชาสัมพันธ์ #MFU Wellness Center #สถาบันพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง