คลินิกทันตกรรม มฟล. บริการด้วยหัวใจ...รักษาแบบองค์รวม โดย สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์

สำนักวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตเป็นรุ่นแรกในปีการศึกษา 2557 ปัจจุบันพวกเขากำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 และก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ที่เข้มข้นขึ้นในรายวิชาคลินิก ซึ่งต้องฝึกปฏิบัติการกับผู้ป่วยจริง หลังจากสั่งสมความพร้อมทางด้านวิชาการมาอย่างเต็มที่ และฝึกปฏิบัติกับหุ่นจำลองมาอย่างคล่องแคล่ว ทางมหาวิทยาลัยจึงได้เปิด “คลินิกทันตกรรม สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์” เพื่อรองรับการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และภาคปฏิบัติการคลินิกทันตกรรม ซึ่งเป็นทั้งสถานฝึกอบรม วิจัย และปฏิบัติงานของทันตแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ นักเรียนผู้ช่วยทันตแพทย์ รวมทั้งบุคลากรด้านทันตสาธารณสุข

คลิกนิกทันตกรรม นอกจากเป็นห้องเรียนห้องใหญ่แล้ว ยังเปิดให้บริการแบบครบวงจรสำหรับบุคคลทั่วไป ทั้งการให้คำปรึกษา ส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสุขภาพช่องปาก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 เปิดทำการอยู่ที่ชั้น 3 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำการตรวจรักษาโดยนักศึกษาทันตแพทย์ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ทันตแพทย์ โดยให้บริการในแนวคิดใหม่คือ ..ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจ ให้การรักษาแบบองค์รวม ด้วยค่าบริการแบบเป็นมิตร

วันนี้เราได้สนทนากับ อาจารย์ทันตแพทย์ สุมิตร สูอำพัน อาจารย์ประจำหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มฟล. และได้พูดคุยกับนักศึกษาทันตแพทย์รุ่นแรก ซึ่งในวันนี้ ณ ห้องปฏิบัติการคลินิกทันตกรรม ไม่ใช่เพียงแค่ห้องเรียน แต่ยังบรรจุความฝัน ความหวัง และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของ “ว่าที่หมอฟัน มฟล.” อีกด้วย

อาจารย์ทันตแพทย์สุมิตร สูอำพัน ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ปัจจุบันคลินิกทันตกรรม สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ เปิดให้บริการทางทันตกรรมสำหรับบุคคลทั่วไป ทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ ในส่วนของปฐมภูมิก็คืองานพื้นฐานอย่างเช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุดอย่างง่าย ส่วนงานเฉพาะทางหรือในระดับทุติยภูมินั้น คือการรักษารากฟัน โรคปริทันต์อักเสบ ผ่าฟันคุดอย่างยาก ทำฟันปลอมทั้งแบบถอนได้และแบบติดแน่น รวมทั้งงานทันตกรรมสำหรับเด็ก และการตรวจวินิจฉัยโรคในช่องปาก โดยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ในรายวิชาคลินิก ซึ่งตอนนี้นักศึกษาทันตแพทย์รุ่นแรกของ มฟล. เข้าสู่ชั้นปีที่ 4 จะได้ฝึกปฏิบติการ ณ คลินิกแห่งนี้ ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะย้ายไปทำการ ณ โรงพยาบาลทันตกรรม ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มีความเพียบพร้อมมากขึ้น และเมื่อถึงชั้นปีที่ 6 จะได้ออกไปฝึกปฏิบัติกับสถาบันผลิตร่วม ในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อเรียนรู้รูปแบบการทำงานที่หลากหลายขึ้น

“สำหรับการเรียนการสอนรายวิชาคลินิก ของทันตแพทยศาสตร์ มฟล. เราใช้คอนเซ็ปต์ของการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้สมัยก่อนที่เคยใช้กันมานาน คือฝึกทำทีละอย่าง เช่นเรียนอุดฟันก็อุดฟันเพียงอย่างเดียว ส่วนคลินิกที่ดูแลแบบองค์รวม นักศึกษาจะได้เรียนรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นเมื่อผู้ป่วย 1 คนเข้ามาใช้บริการ นอกจากการตรวจสภาพช่องปากทั้งหมดแล้ว นักศึกษาจะทำการพูดคุย ทำความรู้จักกับผู้ป่วย ว่าคนๆ นั้นคือใคร มีข้อมูลพื้นฐานอย่างไร ทั้งข้อมูลส่วนตัว อาชีพการงาน หรือปัจจัยบริบทเกี่ยวข้องซึ่งจะส่งผลต่อการวางแผนการรักษา และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด นักศึกษาจะไม่ได้วางบทบาทตัวเองเป็นแพทย์ แล้วผู้ป่วยเป็นแค่ผู้ป่วย แต่ยกระดับการดูแลด้วยความเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

นอกจากนี้อาจารย์ทันตแพทย์สุมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่นักศึกษาจะได้เข้ามาฝึกในห้องปฏิบัติการ ต้องผ่านการสอบวิชาพื้นฐานทั้งหมด รวมทั้งผ่านการสอบใบประกอบโรคศิลป์ครั้งที่ 1 ตามที่กำหนดในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ซึ่งเป็นสิ่งที่การันตีถึงคุณภาพและมาตรฐาน ที่จะทำให้ผู้มาใช้บริการเกิดความมั่นใจ ทั้งนี้ในแต่ละขั้นตอนของการรักษาจะมีคณาจารย์ทันตแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แผนการรักษามีความเหมาะสมและชัดเจน ส่วนในงานที่ต้องการแพทย์เฉพาะทางหรือมีความซับซ้อนมาก ก็จะมีอาจารย์ทันตแพทย์เป็นผู้ทำการรักษา โดยมีนักศึกษาทันตแพทย์เป็นผู้ช่วย

ในแต่ละวันของ ศลิษา กิจสุวรรณรัตน์ (บอมบ์) นักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 และเพื่อนรุ่นแรกรวม 28 คน เริ่มต้นในตอนเช้าที่คลินิกทันตกรรมด้วยการลงชื่อและเขียนใบเบิกของที่จะใช้ สำหรับผู้ป่วยที่ทำการนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว จากนั้นก็จะทำการจัดเตรียมยูนิตให้พร้อม เมื่อผู้ป่วยมาถึง หากมาครั้งแรกก็จะทำการซักประวัติโดยละเอียด และนำข้อมูลที่ได้รายงานแก่อาจารย์นิเทศ เพื่อวางแผนการตรวจรักษา จากนั้นทำการรักษาและเชิญอาจารย์มาตรวจสอบความเรียบร้อยในแต่ละขั้นตอน

“ก็สนุกดีค่ะ คนละแบบกับตอนที่เราเรียนในห้องอย่างเดียว ได้มาพบเจอผู้คน แต่ตอนแรกก็เครียดพอสมควร ต้องปรับตัวเยอะมาก ต้องมาเจอคนไข้จริง เรายังไม่รู้วิธีจัดการสิ่งต่างๆ แต่พอผ่านไปไม่นาน เมื่อเราปรับตัวได้ก็ค่อนข้างลงตัว ไม่ได้มีอะไรเครียดขนาดนั้น แค่เราต้องเตรียมตัวเตรียมความรู้ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าจะเจอคนไข้แบบไหน ต้องเตรียมรับมือให้ได้” ศลิษา บอกเล่า

ด้าน พราวดารา หงษ์สามสิบเจ็ด (พราว) นักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 กล่าวตรงกันว่า เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตพลิกผัน ต้องบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไป “ตอนนี้เราเจอผู้ป่วยจริงๆ ต้องลงมือทำจริงๆ มันมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมาเยอะมาก ต้องบริหารจัดการตัวเองเยอะมาก เราต้องทำการรักษาโดยเอาคนไข้เป็นศูนย์กลาง ต้องทำในสิ่งที่คนไข้ต้องได้รับการรักษา ตามลำดับความสำคัญและเหมาะสม ไม่ใช่ทำในสิ่งที่เราอยากทำ เห็นความต้องการของคนไข้เป็นสำคัญ ตอนที่เราฝึกกับหุ่น จะผิดจะพลาดจะพังก็แค่เปลี่ยนซี่ใหม่ แต่กับคนไข้จริงเราทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นการรักษาทุกอย่างต้องมั่นใจ ต้องมีความรู้ มีความพร้อม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสนับสนุนเราเต็มที่ ทั้งอาจารย์ที่ดูแลเราอย่างดี อุปกรณ์ที่มีความพร้อมอย่างมาก”

“วิชาชีพทันตแพทย์ ไม่ใช่วิชาชีพที่อยู่แค่ในช่องปาก แต่คือการดูแลชีวิตคนทั้งคนเหมือนกัน” ศลิษา กล่าวเสริม

เพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ธัชนนท์ กอบฝั้น (นนท์) ก็มีความคิดคล้ายกันว่า คลินิกทันตกรรมแห่งนี้เติมเต็มความพร้อมให้เขาเป็นอย่างมาก “คลินิกปฏิบัติการ ทำให้เราได้ฝึกฝนด้านความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ทำงานแต่ละอย่างให้ดีที่สุด เพราะงานทันตแพทย์เป็นงานละเอียดระดับมิลลิเมตร ใช้ความละเอียดสูงในการทำงานเกี่ยวกับฟัน เช่น การอุดฟัน อุดมากไปก็ไม่ดี จะทำให้การสบฟันของคนไข้ไม่ปกติ ทุกอย่างต้องพอดี เพราะฉะนั้นต้องเตรียมการรักษามาอย่างดี แต่ก็ภูมิใจกับสิ่งที่เราเรียนมาแล้วสามารถนำมาใช้ช่วยคนไข้ได้จริง”

เมื่อตั้งคำถามว่า..อยากเป็นหมอฟันแบบไหน? ธัชนนท์ นิ่งคิดก่อนตอบว่า “อยากเป็น..หมอฟันใจดี พูดกับคนไข้ดีๆ”

ส่วนพราวดารา บอกว่า “อยากเป็นหมอฟันที่ดี ใส่ใจคนไข้ มีความรู้เพียงพอ สามารถทำงานด้วยความมั่นใจ”

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ บัณฑิตทันตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมุ่งหวังเป็นอย่างไร? อาจารย์ทันตแพทย์สุมิตร ตอบด้วยความมั่นใจว่า บัณฑิตทันตแพทย์ที่มุ่งหวังจะสร้าง พวกเขาจะเป็นทันตแพทย์ที่ทำงานในลักษณะการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจ เน้นในเรื่องของทักษะการสื่อสารที่ดี การให้ผู้ป่วยสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษา เพื่อท้ายที่สุดพวกเขาจะสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองได้

“สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มฟล. อาจไม่เหมือนทันตแพทย์ของสถาบันอื่นที่เปิดและมีชื่อเสียงมายาวนาน เรายังคงมีเรื่องที่ท้าทายเข้ามาพิสูจน์ศักยภาพของสำนักวิชาทันแพทยศาสตร์อยู่ตลอด มันไม่ง่ายนักสำหรับการเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ถือว่ายิ่งใหญ่ สำหรับการสร้างโรงเรียนทันตแพทย์ขึ้นมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักศึกษาทุกคนที่เราได้สอนหรือได้ดูแลเขา เราก็รู้สึกได้ถึงความภูมิใจ ที่ในวันนี้เห็นเขาได้เริ่มต้นทำการรักษาผู้ป่วย และเขาก็สามารถดูแลผู้ป่วยของเขาได้เป็นอย่างดี อย่างที่เราอยากจะเห็น”

อาจารย์ทันตแพทย์สุมิตร บอกเล่าและกล่าวปิดท้ายว่า “สำหรับผู้ที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นคนไข้ของนักศึกษาทันตแพทย์ มฟล. เนื่องจากว่าการดูแลแบบองค์รวมจะต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ซึ่งก็จะตามมาด้วยระยะเวลาที่ต้องใช้ร่วมกันนานในแต่ละครั้ง เราในฐานะอาจารย์เข้าใจดีว่าท่านต้องเสียสละเวลาส่วนตัวค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับการเดินเข้าไปรับบริการที่คลินิกหรือโรงพยาบาลทั่วไป แต่เมื่อท่านได้ลองก้าวเข้ามาใช้บริการ สิ่งที่หนึ่งที่ท่านจะสัมผัสได้ ที่จะเกิดขึ้นในหัวใจก็คือความสุข ที่รู้สึกว่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และในทำนองเดียวกัน ท่านเองก็ถือว่าเป็นผู้ที่ให้โอกาสนักศึกษาทันตแพทย์เหล่านี้ ได้เรียนรู้ก่อนที่จะจบออกไปเป็นทันตแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง”

คลินิกทันตกรรม สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ เปิดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไป
เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ 09.00-11.45 น. และ 13.00-15.45 น. (ยกเว้นวันพุธ ปิดทำการช่วงบ่าย)
ณ ชั้น 3 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ติดต่อ โทร. 053-917572, 053-917625

  • 14774 ครั้ง