หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน

ปริญญาโท สำนักวิชาวิทยาศาสตร์

ภาษาไทย: หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน
ภาษาอังกฤษ: Master of Science Program in Materials Innovation for Sustainability

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (นวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน)
ชื่อย่อ : วท.ม. (นวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Master of Science (Materials Innovation for Sustainability)
ชื่อย่อ : M.Sc. (Materials Innovation for Sustainability)

ปรัชญาของหลักสูตร
นวัตกรรมวัสดุเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและสรรค์สร้างวัสดุใหม่ที่มีบทบาทสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดี   ในปัจจุบันที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้และหมดไปอย่างรวดเร็ว สภาวะสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนอยู่ในขั้นวิกฤติ ก่อให้เกิดภัยพิบัติและโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการผลักดันจากนานาชาติ  ในการกำหนดให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติต้องคำนึงถึงการหมุนเวียนใช้ในห่วงโซ่คุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำกลับมาเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม รวมทั้งเร่งพัฒนาวัสดุนวัตกรรมเพื่อมาทดแทนวัสดุที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยจุดแข็งคือความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ 

เพื่อตอบสนองต่อทิศทางในการพัฒนาดังกล่าว “หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขานวัตกรรมวัสดุเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จึงได้ออกแบบรายวิชา เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีทักษะความรู้บนฐาน 3 ด้าน คือ              1) กระบวนการพัฒนาวัสดุเพื่อการประยุกต์ใช้ที่เหมาะสม 2)  กระบวนการพัฒนานวัตกรรม 3) แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้เพื่อให้ทันต่อรูปแบบของการดำเนินวิชาชีพในปัจจุบัน หลักสูตรยังได้ออกแบบให้นักศึกษามีทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่การมีแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในพหุสังคมและสามารถสื่อสารผลงานวิจัยในรูปแบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 

หลักสูตรนี้นำทฤษฎีการสร้างความรู้และทักษะปัญญาด้วยตนเองโดยเชื่อมโยงกับความรู้ที่มีมาก่อน (Cognitive Constructivism Theory) มาใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้และการติดตามประเมินผลการเรียนรู้ และนำทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory) ที่เน้นแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ การเรียนรู้โดยการสังเกต (Observational Learning) การกำกับตนเอง (Self- Regulation) และการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) มาใช้ในการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ของนักศึกษาในหลักสูตร โดยเชื่อมโยงกับผลลัพท์การเรียนรู้ของหลักสูตรทั้ง 5 ด้าน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะและทักษะดังที่ได้ออกแบบไว้


วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทางในสาขาวัสดุศาสตร์ และสามารถบูรณาการองค์ความรู้เพื่อทำงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนางานนวัตกรรมวัสดุที่ทันต่อยุคสมัย สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม มีความคิดสร้างสรรค์ มีแนวคิดในการเป็นผู้ประกอบการ มีความสามารถในการสื่อสารได้หลากหลาย รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม ตระหนักถึงคุณธรรม จริยธรรม และการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 

หลักสูตรนี้ได้ออกแบบให้มีความทันสมัย เน้นการผลิตนวัตกรด้านวัสดุที่ตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งระดับชาติและนานาชาติ นักศึกษาที่เรียนจบในหลักสูตรนี้สามารถทำงานในองค์กรในประเทศ องค์กรข้ามชาติ หรือองค์กรในต่างประเทศ เนื่องจากการเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ และเน้นการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษทั้งในห้องเรียน ในการสัมมนานำเสนอผลงานของนักศึกษา นอกจากนี้หลักสูตรยังเสริมสร้างคุณลักษณะพิเศษให้แก่นักศึกษา ได้แก่การสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาสามารถทำงานอิสระหรือผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม ตัวอย่างของงานที่สามารถทำได้ ได้แก่

  1. นักวิจัยและพัฒนาวัสดุนวัตกรรม นักออกแบบการผลิต นักนวัตกรรมวัสดุ ด้านควบคุมการผลิตและควบคุมคุณภาพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วัสดุชนิดต่างๆ รวมทั้ง 10 อุตสาหกรรม เป้าหมายของรัฐบาล
  2. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
  3. นักวิชาการ อาจารย์และนักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ ในหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระและองค์กรมหาชน ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) หรือศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ในสังกัด สวทช. สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) หรือ PTT Global Chemical Public Company Limited (PTTGC) หรือบริษัทในเครือ SCG เป็นต้น 
  4. ผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุนวัตกรรมและธุรกิจที่สอดคล้องกับกระแสหลักของโลกในปัจจุบันและอนาคตที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
  5. อาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

  • PLO1     แสดงออกซึ่งจริยธรรมทางวิชาการ จริยธรรมการวิจัย และการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • PLO2     สามารถอธิบายหลักการและทฤษฎีสำคัญด้านวัสดุศาสตร์ เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบลักษณะเฉพาะและสมบัติของวัสดุ กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสถิติ และการพัฒนาวัสดุที่ทันต่อยุคสมัยสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • PLO3     สามารถพัฒนางานวิจัยและวัสดุนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เลือกใช้คณิตศาสตร์และสถิติที่เหมาะสมในการวิเคราะห์วัสดุนวัตกรรม
  • PLO4   มีทักษะการคิดอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และสามารถปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้
  • PLO5     สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและมูลค่าของนวัตกรรมวัสดุและนำเสนอสารสนเทศทางนวัตกรรมวัสดุและผลงานวิจัยเพื่อการสื่อสารทางวิชาการได้ 

จำนวน 4 ภาคการศึกษาในหลักสูตร

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 140,000.- บาท
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 35,000.- บาท

แผน ก1  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)
    1. หมวดรายวิชาบังคับแบบไม่นับหน่วยกิต (เทียบเท่า 6 หน่วยกิต)  
    2. หมวดรายวิชาสัมมนาแบบไม่นับหน่วยกิต (เทียบเท่า 2 หน่วยกิต)  
    3. หมวดรายวิชาวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต
       
แผน ก2  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)
    1. หมวดวิชาบังคับ 12 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาเลือก 6 หน่วยกิต
    หมวดรายวิชาสัมมนาแบบไม่นับหน่วยกิต (เทียบเท่า 2 หน่วยกิต)  
    4. หมวดวิทยานิพนธ์     18 หน่วยกิต
       

อ้างอิงจาก หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวัสดุเพื่อความยั่งยืน  พ.ศ. 2565

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 9 ส.ค. 65