หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการแปลงเป็นดิจิทัล

ปริญญาโท สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ

ภาษาไทย: หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการแปลงเป็นดิจิทัล
ภาษาอังกฤษ: Master of Science Program in Digital Transformation Technology

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการแปลงเป็นดิจิทัล)
ชื่อย่อ : วท.ม. (เทคโนโลยีการแปลงเป็นดิจิทัล)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Master of Science (Digital Transformation Technology)
ชื่อย่อ : M.Sc. (Digital Transformation Technology)

ปรัชญาของหลักสูตร
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบ ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รูปแบบธุรกิจ และนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เร่งให้เกิดการใช้งานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะบริการข้อมูลและทำธุรกรรมต่าง ๆผ่านระบบออนไลน์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว  เพื่อพัฒนา ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการหรือพฤติกรรมของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยให้สามารถแข่งขันได้ Digital Transformation Technology เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและสร้างเครื่องมือ หรือระบบสารสนเทศเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกแบบและสร้างกระบวนการเพื่อแปลงสู่ดิจิทัล ด้วยการขับเคลื่อนด้วยกระบวนการหรือข้อมูล รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทั้งซอฟต์แวร์และรูปแบบการสื่อสาร บุคคลากรที่จะไปปฏิบัติงานเพื่อแข่งขันทางธุรกิจดิจิทัล จึงจำเป็นต้องมี ทักษะเฉพาะดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งจะเป็นศาสตร์ที่จำเป็นต่อการใช้รับมือกับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต 

หลักสูตรนี้นำทฤษฎีการสร้างความรู้ของผู้เรียน คือ ปรัชญา Pragmatism  โดยเน้น ทฤษฎี Re-Constructivist มาเป็นกรอบนำทางในการจัดการศึกษาของหลักสูตร โดยเชื่อว่า การเรียนรู้ หรือการสร้างความรู้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ โดยการนำประสบการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นในสิ่งแวดล้อมหรือสารสนเทศใหม่ที่ได้รับมาเชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม มาสร้างเป็นความเข้าใจของตนเอง หรือ เรียกว่า โครงสร้างทางปัญญา (Cognitive Structure) และใช้สถานการณ์ที่เป็นปัญหาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในบริบทดิจิทัล โดยเน้นการสอนแบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) และวิจัยเป็นฐาน (Research Based Learning) ซึ่งให้ผู้เรียนเผชิญกับสถานการณ์จริง  ค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านการสนับสนุนของผู้สอนและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 


วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อมุ่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ มีความสามารถในการวิจัยและประยุกต์เทคโนโลยีด้านการแปลงทางดิจิทัล ยึดมั่นหลักจริยธรรมวิจัยและหลักความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีความสามารถในการสร้างหรือพัฒนากระบวนการแปลงเป็นดิจิทัลผ่านกระบวนการวิจัย โดยเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในด้านการจัดการกระบวนการทางดิจิทัล (Digital Process Management) หรือด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) และทำงานร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการและธุรกิจในระดับชาติและระดับสากลได้

เรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการเรียนรู้จากการทำวิจัยและพัฒนาโครงงานที่สอดแทรกความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้กลยุทธการขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการหรือข้อมูล มีความรู้ด้านธุรกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ 

มหาบัณฑิตด้านเทคโนโลยีการแปลงเป็นดิจิทัล สามารถเป็นผู้ประกอบอาชีพในตำแหน่งต่างๆดังนี้

  1. นักแปลงเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Transformer)
  2. นักบริหารกระบวนการดิจิทัล (Digital Process Manager)
  3. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)
  4. นักออกแบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Designer)
  5. ผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation Entrepreneur)
  6. นักวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Scholars)

  • PLO 1  ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมวิจัยพื้นฐานและหลักความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
  • PLO 2  อภิปรายเชื่อมโยง แนวคิดและหลักการ ของกระบวนการจัดการทางดิจิทัล (Digital Process Management) และ ความรู้ด้านวิทยาการข้อมูล (Data Sciences) กับการวิจัยและพัฒนา เพื่อแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation)
  • PLO 3  ออกแบบกระบวนการแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) โดยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านกระบวนการจัดการทางดิจิทัล (Digital Process Management)   หรือองค์ความรู้ด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) เข้ากับกระบวนการวิจัย
  • PLO 4  ปรับตัวเข้ากับผู้อื่น ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบนานาชาติและเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
  • PLO 5  คัดเลือกเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ สถิติ และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงใช้ทักษะภาษาอังกฤษและเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสื่อสาร ในการสนับสนุนการดำเนินการวิจัย
  • PLO 6  สร้าง/พัฒนา ตัวแบบการแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation Model) ด้วยการขับเคลื่อนของกระบวนการ (Process-driven)/การขับเคลื่อนของข้อมูล (Data-driven) ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา

  • แผน ก1 
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร   140,000   บาท
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา  35,000  บาท
  • แผน ก2 และแผน ข 
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร   160,000   บาท
    • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา  40,000  บาท

แผน ก1  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)
    1. หมวดวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต
       
แผน ก2  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)
    1. หมวดวิชาบังคับ 12 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาเลือก 6 หน่วยกิต
    3. หมวดวิทยานิพนธ์ 18 หน่วยกิต
       
แผน ข  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)
    1. หมวดวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาเลือก 12 หน่วยกิต
    3. หมวดการค้นคว้าอิสระ 6 หน่วยกิต
       

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

หลักสูตรแบบ ก1:
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต หรือเทียบเท่า ในสาขาวิชาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ สาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 หรือ เทียบเท่า กรณีแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 3.00 แต่ไม่น้อยกว่า 2.50 จะต้องแสดงผลงานทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ

หลักสูตรแบบ ก2:
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต หรือเทียบเท่า ในสาขาวิชาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ สาขาวิชาด้านธุรกิจ หรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือ เทียบเท่า กรณีแต้มระดับคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 2.50 จะต้องแสดงผลงานทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ

หลักสูตรแบบ ข:
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต หรือเทียบเท่า ในสาขาวิชาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ สาขาวิชาด้านธุรกิจ หรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติอื่น ๆ ของผู้เข้าศึกษา
ให้เป็นไปตาม ข้อบังคับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2560

อ้างอิงจาก หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปลงเป็นดิจิทัล พ.ศ. 2565

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 31 พ.ค. 65