หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์

ปริญญาโท สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

หลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์
ภาษาอังกฤษ: Master of Science Program in Health and Biomedical Analytics

 

ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์)
ชื่อย่อ : วท.ม. (วิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Master of Science (Health and Biomedical Analytics)
ชื่อย่อ : M.Sc. (Health and Biomedical Analytics)

 

ปรัชญา / วัตถุประสงค์

ปรัชญาของหลักสูตร
วิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์ เป็นสหวิทยาการแห่งการรวมตัวของศาสตร์การวิเคราะห์หลายแขนงเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนระหว่างวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ มีการนำวิทยาการด้านหลักการวิจัย การวิเคราะห์ผลทางชีวการแพทย์สมัยใหม่ การบริหารจัดการข้อมูล เหมืองข้อมูลชีวภาพและสุขภาพ นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ มาส่งเสริมให้ได้
องค์ความรู้ใหม่อย่างมีคุณค่า เพื่อรับมือกับภาวะพลิกผันและภัยคุกคามทางด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพทั้งส่วนบุคคลและสาธารณชนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต โดยผู้เรียนจากหลากหลายพื้นฐานวิชาชีพสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองจากวิทยาการวิเคราะห์และเลือกใช้ศาสตร์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้องมาเป็นแนวคิดทางเลือกในการพัฒนาเพิ่มเติมต่อยอดจากฐานองค์ความรู้เดิมได้อย่างแข็งแกร็ง (constructivism) เพื่อแสดงผลหรือทำนายผลและตอบโจทย์ปัญหาที่ท้าทายด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพจากสถานการณ์จริง (problem-based learning) และสามารถเลือกใช้ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างรอบด้าน โดยใช้ศาสตร์ด้านการวิจัยเป็นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตนวัตกรรมสุขภาพและนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพ ที่จะช่วยนำพาสาธารณชนในสังคมไทยและสังคมโลกไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี จากระบบการดูแลสุขภาพที่ถูกพัฒนาให้เป็นเลิศด้วยมหาบัณฑิตวิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์ที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ความรู้ ทักษะปฏิบัติ และเจตนคติที่ดี ที่จะรับใช้สาธารณชนด้วยจิตบริการและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสร้างความเชื่อมั่นยอมรับและนับถือให้กับสังคมได้ตราบนานเท่านาน

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์ ที่มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สามารถบูรณาการศาสตร์ทางด้านสุขภาพและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างองค์ความรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการให้บริการสุขภาพในสถานการณ์จริง 

 

จุดเด่นของหลักสูตร

เป็นหลักสูตรแนวใหม่ที่เปิดกว้างให้ผู้เรียนจากหลากหลายศาสตร์ได้ใช้ศาสตร์ของการวิเคราะห์มาบูรณาการข้ามศาสตร์ และมีความยืดหยุ่นโดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในรายวิชาที่สนใจได้มากขึ้น และได้เลือกเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นจากโจทย์วิจัยที่ต้องการคำตอบแล้วเลือกเพิ่มพูนความรู้จากสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร และได้นวัตกรรมด้านสุขภาพและสารสนเทศสุขภาพ

 

แนวทางในการประกอบอาชีพ

หลักสูตรฯ มุ่งเน้นพัฒนาบัณฑิตที่มีความสามารถในการทำวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ ซึ่งสามารถประกอบอาชีพตามสายอาชีพของตนเองโดยสามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่ระบบสายงานการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ตามสายวิชาชีพของตนเอง หรือเปลี่ยนสายอาชีพใหม่ตามความสนใจ ซึ่งสามารถประกอบอาชีพได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  1. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลทางด้านชีวสารสนเทศ (bioinformatics) การแพทย์แม่นยำ (precision medicine) และข้อมูลสุขภาพอื่นๆ ในหน่วยงานของรัฐและเอกชน เช่น โรงพยาบาล ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
  2. นักวิจัยในสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน โรงพยาบาลรัฐและเอกชน
  3. นวัตกร ประจำบริษัทเอกชน ที่พัฒนาชุดตรวจหรือผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ
  4. ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ เช่น จีโนมิกส์ (genomics) โปรตีโนมิกส์ (proteomics) เมแทโบโลมิกส์ (metabolomics)

 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

  • PLO1 มีความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบต่อสังคมและมีจริยธรรมทางวิชาการและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและสารสนเทศสุขภาพ
  • PLO2 สามารถอธิบายเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้
  • PLO3 สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยหรือนวัตกรรมสุขภาพจากข้อมูลสารสนเทศสุขภาพและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์จริง 
  • PLO4 มีทักษะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์ในสังคมพหุวัฒนธรรม
  • PLO5 มีทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้รูปแบบและแนวโน้มใหม่ของวิทยาการทางด้านสุขภาพและชีวการแพทย์ และเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสามารถสื่อสารทางวิชาการและวิชาชีพได้ในระดับชาติและนานาชาติ

 

ค่าธรรมเนียม

จำนวน  4  ภาคการศึกษาในหลักสูตร

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร   180,000   บาท
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา  45,000  บาท

 

โครงสร้างหลักสูตร

แผน ก1  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)  
    1. หมวดวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต
    ข้อมูลอ้างอิง แผน ก1  
       
แผน ก2  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)  
    2. หมวดวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต
    3. หมวดวิชาเลือก 6 หน่วยกิต
    4. หมวดวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต
    ข้อมูลอ้างอิง แผน ก2  
       
แผน ข  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)  
    1. หมวดวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาเลือก 12 หน่วยกิต
    3. หมวดการค้นคว้าอิสระ 6 หน่วยกิต
    ข้อมูลอ้างอิง แผน ข  
       

 

ข้อมูลอ้างอิง

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการวิเคราะห์ทางสุขภาพและชีวการแพทย์ พ.ศ. 2564

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 9 ก.ค. 64