หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา

ปริญญาโท สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ

หลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา
ภาษาอังกฤษ: Master of Science Program in Dermatology

 

ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ตจวิทยา)
ชื่อย่อ : วท.ม. (ตจวิทยา)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Master of Science (Dermatology)
ชื่อย่อ : M.Sc. (Dermatology)

 

ปรัชญา / วัตถุประสงค์

ปรัชญาของหลักสูตร
ความรู้ทางตจวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาด้านโรคผิวหนัง เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านวิทยาศาตร์การแพทย์ การแพทย์คลินิก การวินิจฉัยโรค การดูแลรักษา และ การป้องกันโรค ปัจจุบันองค์ความรู้ด้านการแพทย์ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งด้านการวินิจฉัยโรค และ แนวทางการรักษา รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ประกอบกับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของประเทศไทยมีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งศักยภาพของประเทศไทยยังเอื้อต่อการเติบโตของตลาดด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านมาตรฐานคุณภาพของผู้ให้บริการทางการแพทย์ การใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และ คุณภาพมาตรฐานของบุคคลากรในระดับสูง ดังนั้นการเตรียมบุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาขาตจวิทยา ด้านสุขภาพความงาม และด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยจึงมีความสำคัญ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญและก้าวทันเทคโนโลยีด้านสาขาตจวิทยา และด้านสุขภาพความงาม ที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลักสูตรนี้นำทฤษฎีการสร้างความรู้ของผู้เรียน คือ คอนสตรัคติวิสต์เชิงปัญญา (Cognitive constructivism) มาเป็นรากฐานสำคัญในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร โดยเชื่อว่า การเรียนรู้ หรือการสร้างความรู้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ โดยการนำประสบการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นในสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมาเชื่อมโยงกับความรู้ที่มีอยู่เดิม มาเพื่อสร้างเป็นความรู้และเข้าใจของตนเอง หรือ โครงสร้างทางปัญญา (Cognitive structure) จะสนับสนุนและให้ความสำคัญต่อการสร้างแนวคิดและความรู้ มากกว่าการถ่ายทอดความรู้ โดยได้นำมาใช้เป็นรากฐานสำคัญในการจัดการเรียนการสอนโดยที่มุงเน้นให้ผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์และมีทักษะการทำงานได้ภายใต้สถานการณ์จริง และใช้เป็นแนวทางในการสืบค้นและค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านการสนับสนุนของผู้สอนและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (active learning)

หลักสูตรปรับปรุงนี้ มุ่งเน้นการผลิตมหาบัณฑิตให้มีศักยภาพทางด้านตจวิทยา ทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะทางคลินิกในการดูแลรักษาโรคทางตจวิทยา เวชศาสตร์ผิวพรรณ รวมถึงการประยุกต์ใช้งานวิจัย การพัฒนางานวิจัยด้านตจวิทยาเพื่อเวชปฏิบัติ และ สามารถศึกษาต่อยอดบูรณาการองค์ความรู้ด้านทางด้านตจวิทยารวมกับศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรปรับปรุงเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณภาพ ให้มีคุณลักษณะคือ

  1. มีความรู้ความสามารถด้านสาขาตจวิทยาและเวชปฏิบัติทางคลินิกด้านตจวิทยาเป็นอย่างดี โดยผู้เรียนจะสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางตจวิทยา เพื่อการประยุกต์ใช้รักษาคนไข้ 
  2. สามารถประยุกต์ความรูด้านสาขาตจวิทยา และทักษะเวชปฏิบัติคลินิกด้านตจวิทยา ร่วมกับความรู้เวชศาสตร์ชะลอวัย เพื่อการบูรณาการในการให้บริการและรักษาคนไข้ อย่างทันสมัยและผสมผสาน
  3. สามารถดำเนินการศึกษาค้นคว้างานวิจัยด้านตจวิทยา เพื่อเสริมความรู้ในทางปฏิบัติ และศึกษาวิจัยต่อยอดโดยผ่านกระบวนการทำวิจัยที่มีมาตรฐาน
  4. มีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพและการวิจัย สามารถการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม 
  5. มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีทักษะด้านการสื่อสารเชิงวิชาการและการประกอบวิชาชีพ ร่วมกับการใช้ทักษะทางคลินิกด้านเวชศาสตร์ผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย อันเป็นคุณลักษณะที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 

 

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

หลักสูตรนี้ได้ออกแบบให้มีความทันสมัย เน้นการผลิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านตจวิทยา ที่ตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งระดับชาติและนานาชาติ นักศึกษาที่เรียนจบในหลักสูตรนี้สามารถทำงานในองค์กรในประเทศ องค์กรข้ามชาติ หรือองค์กรในต่างประเทศ เนื่องจากการเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ และเน้นการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษทั้งในห้องเรียน ในการสัมมนานำเสนอผลงานของนักศึกษา นอกจากนี้หลักสูตรยังเสริมสร้างคุณลักษณะพิเศษให้แก่นักศึกษา ได้แก่ การเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ตจวิทยา การเป็นนักวิจัยทางคลินิก การสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการเพื่อให้นักศึกษาสามารถทำงานอิสระหรือผู้ประกอบการ ตัวอย่างของงานที่สามารถทำได้ ได้แก่

  1. แพทย์ที่เชียวชาญด้านตจวิทยา
  2. นักวิชาการ อาจารย์และนักวิจัย  ในสถาบันอุดมศึกษาด้านสาขาตจวิทยา ในหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระและองค์กรมหาชนชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ 
  3. ผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการที่เชี่ยวชาญสาขาตจวิทยา ที่ต้องการพัฒนาด้านสุขภาพ ด้านการแพทย์ เฉพาะทางด้านสาขาตจวิทย
  4. นักธุรกิจด้านสุขภาพ ผิวหนัง และ ผิวพรรณ ที่สอดคล้องกับกระแสหลักของโลกในปัจจุบันและอนาคตที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

  • PLO1 มีจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพและการวิจัย
  • PLO2 อภิปรายเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางตจวิทยา ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และความรู้ด้านเวชปฎิบัติทางคลินิกด้านตจวิทยา 
  • PLO3 พัฒนาองค์ความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมด้านตจวิทยา ผ่านกระบวนการทำวิจัยด้านตจวิทยา
  • PLO4 แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่และการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรม
  • PLO5 แสดงทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ชีวสถิติ การสื่อสารเชิงวิชาการและการประกอบวิชาชีพ 
  • PLO6 แสดงทักษะด้านเวชปฎิบัติทางคลินิกด้านตจวิทยา เวชศาสตร์ผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย
  • PLO7 แสดงทักษะด้านผู้ประกอบการ

 

ค่าธรรมเนียม

จำนวน 4 ภาคการศึกษาในหลักสูตร

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตร 360,000.- บาท
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 90,000.- บาท

 

โครงสร้างหลักสูตร

แผน ก แบบ ก1  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)  
    1. หมวดวิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต
    2. หมวดรายวิชาที่ไม่นับหน่วยกิต 0 หน่วยกิต
       
แผน ก แบบ ก2  
  จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต (หลักสูตร 2 ปี)  
    1. หมวดวิชาบังคับ 21 หน่วยกิต
    2. หมวดวิชาเลือก 3 หน่วยกิต
    3. หมวดวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต

 

ข้อมูลอ้างอิง

อ้างอิงจาก หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาตจวิทยา พ.ศ. 2565

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 9 ส.ค. 65