เว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์
หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้
ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว นโยบายการใช้คุกกี้

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร

ปริญญาตรี สำนักวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลประยุกต์

หลักสูตร

ภาษาไทย: หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร
ภาษาอังกฤษ: Bachelor of Engineering Program in Digital and Communication Engineering


ชื่อปริญญา

ภาษาไทย: ชื่อเต็ม : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร)
ชื่อย่อ : วศ.บ. (วิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร)
ภาษาอังกฤษ: ชื่อเต็ม : Bachelor of Engineering (Digital and Communication Engineering)
ชื่อย่อ : B.Eng. (Digital and Communication Engineering)


ปรัชญา/วัตถุประสงค์

ปรัชญาของหลักสูตร
ณ ปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสารมีความจำเป็นต่อการดำเนินอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการด้านอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งซึ่งพบได้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ รอบตัว การประมวลผลข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศ ความปลอดภัยของสารสนเทศและระบบสารสนเทศ ความปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งเกี่ยวเนื่องถึงความปลอดภัยของระบบการสื่อสารข้อมูล ซึ่งล้วนแต่ก่อให้เกิดการดำเนินการของการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจยุคใหม่

และดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น บุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้มีความต้องการจากภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังขาดบุคลากรที่มีความรู้และทักษะการนำไปใช้เป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้มองเห็นความต้องการของภาคธุรกิจและความสำคัญขององค์ความรู้ดังกล่าวนี้ จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรโดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสารที่เป็นผู้รู้จริง สามารถปฏิบัติงานได้จริงในระดับสากล (Pragmatism) โดยมีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการใช้งาน ประยุกต์ใช้ ออกแบบ สร้าง บำรุงรักษา และพัฒนาต่อยอด โดยมีความรู้ในด้านอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง การประมวลผลสารสนเทศ ความปลอดภัยของสารสนเทศ และความปลอดภัยไซเบอร์ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ที่ต้องมีการผสมผสานของเทคโนโลยีหลายด้านเข้าด้วยกัน เพื่อรองรับการให้บริการสารสนเทศภายใต้เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ รวมถึงประกอบไปด้วย คุณธรรม และจริยธรรมวิชาชีพ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในส่วนรวมอย่างยั่งยืน


วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีองค์ความรู้และความสามารถทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติทางด้านวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสารในระดับสากล เน้นการออกแบบและพัฒนาระบบทางด้านวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร ที่มีกรอบแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนสามารถร่วมสร้างสรรค์ผลงานทางวิศวกรรมเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมภายใต้จริยธรรมทางวิชาการ


อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

  • วิศวกรระบบสารสนเทศและการสื่อสาร
  • วิศวกรระบบเทคโนโลยีดิจิทัล
  • วิศวกรอิเล็คทรอนิกส์และไอโอที
  • วิศวกรระบบความปลอดภัยไซเบอร์
  • ข้าราชการและพนักงานของรัฐ พนักงานขององค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงสามารถประกอบอาชีพอิสระ และอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร


ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร

  • PLO1: มีวินัย เคารพกฎเกณฑ์ขององค์กรและสังคม มีจิตอาสาต่อส่วนรวม มีจริยธรรมทางวิชาการด้านวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร
  • PLO2: อธิบายหลักการและทฤษฎีด้านการประมวลผลข้อมูล ความปลอดภัยของสารสนเทศ ความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ การสื่อสารข้อมูลและระบบสื่อสารข้อมูล และศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องที่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสารสมัยใหม่ และมีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ
  • PLO3: ออกแบบระบบหรือนวัตกรรมโดยบูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสาร ความต้องการของผู้ใช้และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสารได้
  • PLO4: สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับสหวิชาชีพภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
  • PLO5: สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสารสมัยใหม่ในการทำงานจริงได้ และสื่อสารทางวิชาการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้
  • PLO6: สร้างสรรค์และพัฒนาระบบทางด้านวิศวกรรมดิจิทัลและการสื่อสารที่ตอบสนองตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม


ค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร 224,000.- บาท
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อภาคการศึกษา 28,000.- บาท


โครงสร้างหลักสูตร

จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 132 หน่วยกิต (หลักสูตร 4 ปี)  
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
     
2. หมวดวิชาเฉพาะ 96 หน่วยกิต
  2.1 กลุ่มพื้นฐานอาชีพ 30 หน่วยกิต
  2.2 กลุ่มวิชาชีพบังคับ 54 หน่วยกิต
  2.3 กลุ่มวิชาชีพเลือก 6 หน่วยกิต
     
3. หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต
       


ข้อมูลอ้างอิง

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 8 เม.ย. 65