อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตาม พรบ. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2541

     มาตรา ๕ ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในจังหวัดเชียงราย เรียกว่า “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาลให้มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์ และพัฒนาวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

   

     มาตรา ๑๐ มหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่กระทำการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ใน มาตรา ๕ อำนาจและหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

     (๑) ซื้อ สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือมีทรัพยสิทธิต่างๆ  ในทรัพย์สิน และจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุดหนุนหรืออุทิศให้
การจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัย ให้กระทำได้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตามมาตรา ๑๒  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้จำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนได้

     (๒) รับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการในการให้บริการภายในอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งทำความตกลงและกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าบริการนั้น

     (๓) ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือของเอกชน หรือกับองค์การ หรือหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในมาตรา ๕

     (๔) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์ ร่วมลงทุนหรือลงทุน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ในมาตรา ๕

     การกู้ยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน การร่วมลงทุน หรือการลงทุน ถ้าเป็นจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย ถ้าเป็นจำนวนเงินเกินหนึ่งในสี่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และถ้าเป็นจำนวนเงินเกินครึ่งหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน

     (๕) จัดให้มีทุนการศึกษาและทุนการวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ

     (๖) จัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคลเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในมาตรา ๕